xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ รับลูก “สมคิด” ชูเศรษฐกิจพอเพียงรับมือโควิด-19 ยกร่างหนุนเศรษฐกิจชุมชน ตามกรอบเงินกู้ 4 แสน ล.ดันเข้า ครม.เดือนหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์ รับลูก “รองสมคิด” ยกร่างหนุนเศรษฐกิจชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รับมือโควิด-19 เตรียมชงเข้า ครม.เดินหน้า ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้าน ด้าน “รองนายกฯ” รับโควิด-19 ทำให้รายได้ส่งออก-ท่องเที่ยวหด สั่งทีมกลั่งกรองฯ เน้นการทำเกษตรดั้งเดิม สมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาแหล่งน้ำพ่วงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ตั้งเป้าในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ย.นี้

วันนี้ (30 เม.ย.) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงสายวันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยเฉพาะในส่วนของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563

“รองนายกฯ เน้นย้ำ 2 ประเด็นสำคัญต่อคณะกรรมการ ได้แก่ (1) การวางหลักการการใช้เงินเพื่อสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและทันสมัย กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน และ (2) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายและดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่มีความชัดเจน เพื่อให้ทุกส่วนราชการมีความเข้าใจและดำเนินการในทิศทางเดียวกัน”

ทั้งนี้ เชื่อว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศไทยจากการส่งออกและการท่องเที่ยวลดน้อยลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงขึ้นอยู่กับ 2 ตัวแปร คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ และเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้น เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างดุลยภาพระหว่างการส่งออกและเศรษฐกิจชุมชน โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการจะวางกรอบนโยบาย รับฟังความคิดเห็นของภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ทุกส่วนราชการนำไปประกอบการเสนอแผนงาน/โครงการและงบประมาณต่อไป

นายสมคิด กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดรูปแบบโครงการที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและท้องถิ่น Local Economy เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค.นี้

จากที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และมีนำไปช่วยเหลือเยียวยา 6 แสนล้านบาท ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แต่มีประชาชนบางส่วนโยกย้ายกลับต่างจังหวัด จึงจำเป็นต้องมีการสร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่นในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ จึงได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จัดทำหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“ให้เน้นเรื่องการทำเกษตร ทั้งเกษตรดั้งเดิม เกษตรสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเดินหน้าไปได้ และใช้จังหวะเวลานี้การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติจะส่งทำให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนได้”

รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านไอที ทั้งด้านดิจิทัล การจัดส่งสินค้า และ โลจิสติกส์ และการฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือ ต้องการให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคาดว่า จะสามารถนำสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ได้กลางเดือน พ.ค. และเริ่มโครงการได้ต้นเดือน มิ.ย.

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ สภาพัฒน์ ปรับแผนงานในอนาคต โดยเน้นการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงให้มีการปรับแผนงบประมาณปี 64 เน้นการสร้างงานให้มากขึ้น เพื่อรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น