xs
xsm
sm
md
lg

ฟังไว้! “หมอธีระ” เตือนอย่าให้การเมืองกดดัน “ปลดล็อก” เชื่อรอบ 2 “สิงคโปร์ผสมญี่ปุ่น” เสนอกลาง พ.ค.เหมาะสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากแฟ้ม
ต้องฟัง! “หมอธีระ” เตือนอย่าให้การเมืองที่มุ่งหวังแต่ “ประชานิยม” มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ “ปลดล็อก” หรือไม่ เชื่อโควิด-19 ยอดพุ่งแน่ หลังปลดล็อก 7-10 วันแบบ “สิงคโปร์” ผสม “ญี่ปุ่น” เสนอผ่อนคลายกลาง พ.ค.

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 เม.ย. 63) เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อยู่กับ Keen Woratanarat และ Patarawan Woratanarat โพสต์ข้อความระบุว่า

“โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันนี้ รัฐประกาศว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 15 คน ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในสามมาจากต่างประเทศ หนึ่งในสามติดมาจากการไปคลุกคลีสัมผัสกับคนที่ติดเชื้อ และอีกเกือบหนึ่งในสามมาจากการไปตะลอนห้าง ตลาด และที่ท่องเที่ยว กับการทำงานพบปะผู้คน

ยอดรวมตอนนี้ใกล้ 3,000 แล้ว

แถมใกล้วันประชุม ครม. เพื่อพิจารณามาตรการผ่อนปรนการใช้ชีวิตแก่ประชาชนชาวไทย

เราจึงต้องตื่นเต้น รอวัดใจว่า อิทธิพลนักการเมืองตามค่ายตามมุ้งต่างๆ ที่พยายามหาทางทวงคะแนนเสียงประชานิยมท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล และ ศบค.มากเพียงใด

เรามีบทเรียนมาแล้วตั้งแต่หลายเดือนก่อน ที่อิทธิพลการเมืองส่งผลให้เห็นปรากฏการณ์หน่วยงานรัฐที่ดูแลสุขภาพ ไปประกาศหนุนร่วมดูแลงานแข่งรถ ทั้งที่ประเทศมีการระบาดของโรคอยู่ แต่ทนกระแสกดดันไม่ไหว ต้องมายกเลิกตอนหลัง แต่การยกเลิกก็คงไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ที่ติดตาตรึงใจเราๆ ท่านๆ หายไป...

อุปมาอุปมัยได้ว่า เหตุใดช่วงสองสามเดือนแรกของการระบาด จึงได้ยินแต่เรื่องทำนองว่า โรคนี้สบายๆ เราเอาอยู่ๆ

เอาไปเอามา จากไม่ค่อยมีเคส กลายเป็นมีอยู่ทุกวัน และทวีคูณขึ้นจนเกาะใกล้เส้นการระบาด 33% แบบกลุ่มประเทศที่ระบาดหนักอย่างอเมริกา อิตาลี อิหร่าน จีน เยอรมนี เป็นต้น

เรายังโชคดี ที่ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลตัดสินใจถูกต้องที่จะดำเนินการตามมาตรการเข้มข้นตั้งแต่กลางมีนาคม หลังรับฟังการนำเสนอผลการวิเคราะห์ของโรงเรียนแพทย์

เราจึงดึงจาก 33% มามุ่งสู่ 5% ภายในกลางพฤษภาคมนี้ได้

เจ็บแล้วต้องจำนะครับ...อย่าให้การเมืองมามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องชีวิต ความเป็นความตายของประชาชน

คราวนี้การเมืองหลายมุ้งพยายามปั่นป่วน อยากให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพื่อมุ่งหวังเม็ดเงิน

ถามจริงเหอะ เอาอะไรมาคิด ทั้งโลกตอนนี้จนกรอบกันหมด เพราะโดนโรคระบาดกันทั่วหน้า

ขืนเอาเข้ามา เงินที่ได้จะน้อยนิด แต่จะเจ็บตัวพินาศกันหมด เพราะจะได้โรคเข้ามาในประเทศ ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะปลอดภัยครับ ณ เวลานี้

ดังนั้น รัฐจึงต้องกล้าตัดสินใจ ผ่อนคลายอย่างชาญฉลาด ให้ความสำคัญกับสุขภาพมาเป็นอันดับแรก รักษาชีวิตคนของเราไว้ให้ได้มาก ถ้ารอดได้ก็จะมีกำลังไปทำเงินได้ในอนาคต

ตอนนี้เป็นยุคที่ต้องอดทนฝ่าฟันความยากลำบาก ช่วยกันประหยัดอดออม ถึงเวลาที่เราต้องน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยกันปฏิบัติอย่างจริงจัง

อย่าเปิดศึกทั้งในบ้านและนอกบ้านพร้อมกันเด็ดขาด

ผ่อนปรนให้ทุกคนได้ใช้ชีวิต เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพภายใต้กฎระเบียบมาตรฐานที่เข้มงวดด้านการป้องกัน ทั้งต่อคนให้บริการและประชาชนผู้มาใช้บริการ

ผ่อนปรนให้ทุกคนได้ใช้ชีวิต เพื่อผ่อนคลายตามสมควร แต่ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ดี๊ด๊า แต่ต้องพร้อมเพรียงกันในการปฏิบัติตนแบบ New Normal = New Me...

สถานการณ์ที่ไทยควรเลือกที่จะทำ คือ “คงการปิดการเดินทางจากต่างประเทศ...และรณรงค์ให้เกิดสังคม New Me”

ควรเริ่มพร้อมๆ กันไปในกลางเดือนพฤษภาคมครับ เพราะตัวเลขคนติดเชื้อที่คงอยู่ในระบบจะลดลงเหลือน้อย พอดีกับการเตรียมระบบและแบบแผนปฏิบัติสำหรับแต่ละคนแต่ละกิจการอย่างละเอียด

ก้าวย่างอย่างมั่นคงรอบคอบ แล้วเราจะรอดไปด้วยกันครับ

เปิดเมื่อพร้อม...อย่าเปิดตามแรงกดดัน

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome #อยู๋บ้านกันนะครับ

#ทำงานแบบ work from home

#ออกจากบ้านยามจำเป็นเท่านั้น

#หากออกนอกบ้านให้ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นๆ

#เจอกันน้อยๆ จะได้อยู่กันนานๆ

#แบ่งปันช่วยเหลือคนยากไร้

ประเทศไทยต้องทำได้ครับ...

เป็นกำลังใจให้ทุกคน...

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
ก่อนหน้านี้ (25 เม.ย. 63) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับการระวังการปลดล็อก และเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2

ประเด็นสำคัญ ระบุว่า “โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บอกตรงๆ ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะเห็นคลื่นระลอกที่ 2 ตามมาหลังจากการปลดล็อก ในลักษณะคล้ายสิงคโปร์ และญี่ปุ่นผสมกัน

กล่าวคือ สิงคโปร์ระบาดหนักระลอกสอง เน้นเกิดในกลุ่มที่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ

ญี่ปุ่นระบาดหนักระลอกสอง เน้นเกิดในกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทั้งจากการทำงานและชีวิตส่วนตัว
“เชื่อขนมกินได้เลยว่า ไม่ว่าจะพลิกมองมุมใด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หลังปลดล็อกราว 7-10 วัน สิ่งที่เราพอจะทำกันได้ คือ หนึ่ง รัฐควรหน่วงเวลาการปลดล็อก ให้มีจำนวนเคสน้อยๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ คำแนะนำของผมยังคงเดิมคือ ดีเดย์ปลดเมื่อแตะ 5% ราวกลางเดือนพฤษภาคม เพราะ ณ ตอนนั้น เคสหลงเหลือที่ต้องการการดูแลรักษาในโรงพยาบาลจะเหลือน้อยลงมาก ทำให้ระบบสาธารณสุขมีเวลาพัก และเตรียมรับระลอกสอง รวมถึงมีช่วงเวลาในการเคลียร์ ชดเชยระบบดูแลรักษาคนไข้โรคอื่นๆ ให้ลงตัว

สอง คนที่อาศัยอยู่ในเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ จง “Keep low profile” หากทำได้

กล่าวคือ ยังยืนหยัดที่จะอยู่นิ่งกับที่ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ทำงานที่บ้านให้มากๆ ไปที่ทำงานน้อยๆ เน้นการทำงานติดต่อทางออนไลน์

หากต้องออกจากบ้าน ต้องใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นๆ และรีบทำธุระให้เสร็จโดยเร็ว...”

จากโพสต์ของ “หมอธีระ” ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การระบาดระลอก 2 หลังปลดล็อก ที่จะเป็นแบบ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ผสมกัน โดย สิงคโปร์ระบาดหนักระลอกสอง เน้นเกิดในกลุ่มที่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ

ขณะที่ญี่ปุ่นระบาดหนักระลอกสอง เน้นเกิดในกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทั้งจากการทำงานและชีวิตส่วนตัว

เพราะเชื่อว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว “จุดอ่อน” ก็คือ ทั้งสองอย่างนั่นเอง ที่ไม่ว่าจะเอามาตรการไหนมาคุม ก็ล้วนแต่ยากทั้งสิ้น ยิ่งชีวิตส่วนตัวแล้ว นิสัยคนไทย “เสรีภาพข้าใครอย่าแตะ” ต่อให้เสี่ยงอย่างไร ขอให้สุขเป็นพอ.. แล้วจะเหลือรึ!


กำลังโหลดความคิดเห็น