อดีต ส.ว.“รสนา” ชี้มาตรการลดค่าไฟให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 800-3,000 หน่วย เอื้อผู้ประกอบการมากกว่ารายย่อย ซ้ำกระตุ้นให้ใช้ไฟฟ้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยถ้าใช้ไฟ 15 แอมป์ก็ยังต้องจ่ายเท่าเดือน ก.พ. แทนที่จะให้ฟรีไปเลย แนะลดค่าใช้จ่ายแบบถ้วนหน้าคนละ 1 พัน ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า
วานนี้ (21 เม.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ มาตรการช่วยค่าไฟ ช่วยผู้ใช้ไฟหรือช่วยผู้ประกอบการกันแน่!? มีรายละเอียดว่า
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กำหนดมาตรการลดค่าไฟ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 และ ครม.ได้อนุมัติตามที่ รมว.สนธิรัตน์เสนอในวันนี้ มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้ใช้ไฟขนาด 5 แอมป์ที่ได้ใช้ไฟฟรีเพิ่มจาก 90 หน่วยเป็น 150 หน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟที่มิเตอร์มากกว่า 5 แอมป์ ให้ใช้ราคาในเดือนกุมภาพันธ์เป็นฐานค่าไฟในเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเป็นเวลา 3 เดือนโดยเพิ่มให้ใช้ได้ถึง 800 หน่วยโดยจ่ายราคาเท่าเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เกินตั้งแต่ 801-3,000 ลดค่าไฟให้ 50% และหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เกินตั้งแต่ 3,001 ขึ้นไป ลดค่าไฟอีก 30% และนำไปบวกกับค่าไฟในเดือน ก.พ.
ข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน สะท้อนวิธีคิดของรัฐมนตรี และข้าราชการในกระทรวงที่ช่วยกันชงวิธีการนี้ซึ่งเป็นการมองแต่ประโยชน์ของผู้ประกอบการ มากกว่าประโยชน์ของผู้บริโภค เป็นมาตรการที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟ มีพฤติกรรมใช้ไฟเพิ่มขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกระทรวงพลังงานทำโครงการรณรงค์ให้ผู้ใช้ไฟประหยัด และลดการใช้ไฟที่ไม่จำเป็น ถึงขนาดลงทุนทำโฆษณา และทำอีเวนต์เสียเงินปีละหลายร้อยล้าน เพื่อให้ผู้บริโภคช่วยกันประหยัดด้วยการปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้ และทำอีเวนต์ให้ร่วมกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง
มาตรการแบบนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า นโยบายลดการใช้พลังงานที่ผ่านมาล้วนเป็นปาหี่หลอกชาวบ้านว่ากระทรวงพลังงานต้องการให้ประชาชนประหยัด และลดการใช้ไฟฟ้าลง ใช่หรือไม่
ก่อนหน้านี้มีคนร้องเรียนมาที่ดิฉันว่าเป็นบ้านที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้า 15 แอมป์ ทำให้ไม่ได้ใช้ไฟฟรี ทั้งที่ใช้ไฟแค่เดือนละ 49 หน่วย 205 บาท พอเดือนมีนาคม ค่าไฟขึ้นไป 700 กว่าบาท ทั้งที่ไม่ได้อยู่บ้าน 12 วัน เพราะไปอาศัยอยู่บ้านอา และปกติออกไปทำงาน 7 โมงเช้า กลับ 1-2 ทุ่ม ราคาค่าไฟไม่ควรก้าวกระโดดไปแบบนั้น กรณีแบบนี้ ไม่ใช่กรณีเดียว อย่างกรณีบ้านที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ แต่ได้บิลค่าไฟมา 5,000 บาท ทำให้น่าสงสัยว่าระยะนี้ที่การใช้ไฟฟ้าลดลงทำให้มีปริมาณไฟสำรองเหลือบานเบอะ จะมีการมั่วตัวเลขการใช้ไฟหรือไม่
มาตรการช่วยเหลือค่าไฟผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงพลังงาน ในเคสที่ดิฉันยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่บังเอิญมิเตอร์ไฟเป็น 15 แอมป์ จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ยังต้องเสียเงินอย่างน้อย 205 บาทตามฐานในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งที่ควรได้ใช้ไฟฟรี สำหรับคนรายได้น้อย เงิน 200 บาทก็มีความหมายมาก โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด ที่รายได้หดหาย สิ่งที่คนต้องการมากที่สุดไม่ใช่การได้ใช้ไฟเพิ่มเกินจากที่จำเป็น แต่คือการได้ลดรายจ่ายค่าไฟมากกว่า เพราะการลดรายจ่าย เท่ากับเพิ่มรายได้ ข่าวสะเทือนขวัญในช่วงวิกฤตนี้ที่มีคนทำอัตวินิบาตกรรมเพราะค่าครองชีพสูง แต่ยังถูกตัดไฟเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับรัฐบาลได้ดี
มาตรการช่วยเหลือค่าไฟของกระทรวงพลังงานเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมเบี่ยงเบนให้มีการใช้ไฟมากเกินจำเป็น เพราะได้ของฟรี แท้ที่จริงแล้วกระทรวงพลังงานใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมพฤติกรรมผู้บริโภคให้ไฟฟ้ามากขึ้น ใช่หรือไม่
กรณีนี้ไม่ต่างจากการที่ กสทช.เอาเงินไปให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยอ้างว่าต้องการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถขอรับสิทธิโทรฟรี 100 นาที ทั้งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จ่ายค่าโทรเป็นแบบแพกเกจอยู่แล้ว ถ้า กสทช.จะช่วยผู้บริโภคควรช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนสักเดือนละ 100-200 บาทในแพกเกจที่จ่าย แทนที่จะไปเพิ่มสิทธิการโทร.ฟรี อีก 100 นาที จะเป็นการช่วยเหลือกันจริงมากกว่า ไม่ใช่อ้างว่าช่วยผู้บริโภค แต่แท้จริงเป็นข้ออ้างเพื่อเอาเงินไปอุ้มผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่
ที่น่าแปลกคือ หน่วยงานราชการทุกประเภท ล้วนมีวิธีคิดแบบเดียวกัน คือ การอุ้มผู้ประกอบการ มากกว่าผู้บริโภคเสมอ ใช่หรือไม่
ข้อเสนอของฝ่ายประชาชนเป็นวิธีคิดแบบตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เสนอว่าขอให้รัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่อยู่บ้านเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล โดยลดค่าใช้จ่าย 1 พันบาทแบบถ้วนหน้า การลด 1,000 บาททำให้ประชาชนได้ประโยชน์ถ้วนหน้า การมีเงินในกระเป๋าเพิ่ม 1,000 บาท พอใช้ซื้ออาหารและสิ่งจำเป็น จะเป็นการช่วยประชาชนได้อย่างแท้จริง
ส่วนที่เกินจาก 1,000-3,000 บาท ประชาชนเสนอให้ลดค่าใช้จ่ายให้ 50% และส่วนที่เกินจาก 3,000 บาทขึ้นไป ลด 30%
หรือวิธีช่วยอีกแบบ คือ กระทรวงพลังงานลดค่าไฟ 1,000 บาทแรก เป็นการช่วยแบบถ้วนหน้า หลังจากนั้น คิดค่าไฟตามที่ใช้จริงโดยไม่ต้องคิดราคาในอัตราก้าวหน้าใส่สูตรคำนวณให้ยุ่งยากซับซ้อน ก็ยังได้ประโยชน์จับต้องได้อีกมากกว่ามาตรการที่ ครม.เพิ่งอนุมัติไป ใช่หรือไม่?”