ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ชี้ทหารเกณฑ์สมัครใจอยู่ต่อแค่ 13% สะท้อนค่ายทหารไม่อาจให้ความมั่นคงในชีวิตได้ แถมยังเสี่ยงภัยคุกคาม ชูร่าง พ.ร.บ.รับราชการ เลิกเกณฑ์ทหารแบบเก่า สับเสียงบไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง จี้นายกฯ เซ็น แนะกองทัพทบทวนส่วนเกิน
วันนี้ (17 เม.ย.) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุถึงกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการผู้บังคับหน่วยหาแนวทางเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการเลื่อนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำปี 2563 จากผลกระทบของโรคโควิด-19 หลังจากมาตรการให้ทหารกองประจำการสมัครใจเลื่อนปลดประจำการต่อไปอีก 1 ปี มีเพียงร้อยละ 13 หรือประมาณ 5,460 นาย จากที่จะปลดประจำการในเดือนนี้ 42,000 นาย ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเป้าหมายที่กองทัพบกตั้งไว้ แม้ว่าจะมีการเพิ่มแรงจูงใจโดยมอบคะแนนเพิ่มร้อยละ 5 สำหรับผู้ที่ต้องการสอบเข้าโรงเรียนทหารในอนาคตแล้วก็ตามนั้น
นายรังสิมันต์ ระบุว่า ตนมีข้อสังเกตว่าในสถานการณ์ขณะนี้ การหางานทำเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ถึงกระนั้นทหารประจำการกว่า 36,500 นาย หรือร้อยละ 87 ของจำนวนที่จะปลดประจำการทั้งหมดกลับเลือกที่จะไม่ขออยู่เป็นทหารต่อไป ข้อเท็จจริงนี้จึงสะท้อนว่า สภาพในรั้วค่ายทหารอาจไม่ได้ให้ความมั่นคงกับชีวิตของพลทหารได้อย่างบรรดาผู้นำทหารพยายามทำให้เราเชื่อ มิหนำซ้ำอาจเต็มไปด้วยความเสี่ยงและภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพถึงขนาดที่ทำให้พลทหารตัดสินใจว่าออกมาข้างนอกดีกว่าอยู่ข้างใน
“ซึ่งสิ่งที่กองทัพควรทำจึงไม่ใช่แค่พยายามหาแรงจูงใจเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหากกองทัพยังคงมีปัญหาอย่างอื่นสั่งสมมาอย่างยาวนานโดยที่ไม่คิดจะแก้ไขแล้ว ย่อมไม่อาจจูงใจหรือแม้แต่จะรั้งใครไว้ให้เป็นทหารต่อไปได้ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่กองทัพจะใช้วิกฤตินี้ปรับปรุงกองทัพตามแนวทางที่อดีตพรรคอนาคตใหม่เคยเสนอ ตามร่าง พ.ร.บ.การรับราชการทหารฉบับใหม่” นายรังสิมันต์ ระบุ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยังระบุถึงสาระสำคัญของกฏหมายดังกล่าว 1. เลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามสันติ ใช้เฉพาะวิธีการสมัครโดยเปิดโอกาสให้ทั้งเพศชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน 2. ยกระดับให้ทหารมีเงินเดือนดี มีสวัสดิการที่ดี เช่น การมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงครอบครัว ได้รับทุนการศึกษา และหากปลดประจำการก็จะมีทุนประกอบอาชีพให้ 3. แก้ปัญหาที่เรื้อรังของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการนำพลทหารไปรับใช้ส่วนตัว การฝึกทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษวินัยร้ายแรงต่อใครก็ตามที่ฝ่าฝืน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นซ้ำอีก 4. ให้มีโอกาสต่อยอดเข้าไปเป็นทหารชั้นประทวนและสัญญาบัตร ซึ่งสามารถครองชั้นยศสูงสุดได้ถึงพันโท
นายรังสิมันต์ ระบุต่อว่า มากไปกว่านั้น สถานการณ์ในขณะนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่าประเทศไทยเสียงบประมาณกับเรื่องไม่เป็นเรื่องไปมากมายเหลือเกิน เรายังอยากมีพลทหารไว้ประจำการนับแสนคน อยากมีอาวุธหรูหราไว้ประดับกองทัพโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลจริงๆ อย่างไรกันแน่ ในขณะที่ระบบสาธารณสุขของเราที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดกลับยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ทั้งการขาดอุปกรณ์ป้องกันสำหรับแพทย์ การขาดเครื่องมือหรือสถานที่เพื่อตรวจโรคได้อย่างทั่วถึง
“กองทัพจึงต้องทบทวนถึงสถานะของตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่เป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต่อประเทศ และตัดมันออกไปโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญคือต้องปรับลดอัตรากำลังพลให้เหลือเท่าที่จำเป็นต่อภารกิจทางทหารจริงๆ โดยในเบื้องต้นผมขอย้ำข้อเสนอของพรรคก้าวไกลอีกครั้งในเรื่องของการโอนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ทั้งโดยการงดเว้นการเกณฑ์ทหาร โอนงบประมาณจัดซื้ออาวุธ โอนงบประมาณที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจของกองทัพโดยตรง เพื่อนำมารับมือสถานการณ์ไวรัส จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จัดจ้างพลเรือนอาสาสาธารณสุข ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว และต้องให้สภาผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมผ่านการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ” นายรังสิมันต์ ระบุ
นายรังสิมันต์ ระบุเพิ่มเติมว่า ตนเห็นว่า กองทัพยังมีเงินนอกงบประมาณที่ได้รับจากธุรกิจต่างๆ เช่น สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ เป็นมูลค่ามหาศาล รัฐบาลจะต้องนำเงินเหล่านี้ของกองทัพมาช่วยสนับสนุนการสาธารณสุขเพื่อรับมือไวรัสด้วยเช่นกัน และในอนาคต รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างจริงจังและจริงใจในเรื่องการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย โปร่งใส และไม่สิ้นเปลือง โดยเริ่มต้นจากหยิบร่าง พ.ร.บ.การรับราชการทหารฉบับใหม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้ว
“ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรใช้โอกาสนี้ลงนามรับรองร่างดังกล่าวเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารเดิมที่มากด้วยปริมาณแต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ทำให้ขนาดของกองทัพเล็กลง แต่มีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพในศตวรรษที่ 21 หากร่างฉบับนี้สามารถผ่านสภาผู้แทนราษฎร และประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ผมเชื่อว่า กองทัพจะไม่ประสบปัญหาในการรับสมัครทหารเข้าประจำการ และจะเป็นการยกระดับกองทัพสู่ความทันสมัยได้อย่างแน่นอน ส่วนในประเด็นอื่นๆ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ธุรกิจและเงินนอกงบประมาณของกองทัพ ฯลฯ ผมยืนยันว่า เราจำเป็นต้องมีการปรับปรุงด้วย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพในทุกมิติ อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ต่อไป” นายรังสิมันต์ ระบุ