xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบรายงานผลป้องกันค้ามนุษย์ฯ เผยลงโทษจริงจังทำ จนท.มีเอี่ยวลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562 ระบุใช้มาตรการลงโทษจริงจัง ทำ จนท.รัฐมีเอี่ยวลดลง

วันนี้ (15 เม.ย.) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

1. มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.53 รวม 3,806.82 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีจำนวน 3,641.98 ล้านบาท

2. ได้สืบสวนปราบปรามคดีค้ามนุษย์ 288 คดี จำแนกเป็น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก และการแสดงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น) 185 คดี การนำคนมาขอทาน 9 คดี การบังคับใช้แรงงาน (แรงงานทั่วไป แรงงานในภาคประมง เอาคนลงเป็นทาส และการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม) 94 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหา 555 คน (ชาย 330 คน หญิง 225 คน) สัญชาติไทย 402 คน เมียนมา 120 คน กัมพูชา 4 คน ลาว 6 คน และอื่น ๆ 23 คน รวมทั้งช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 1,821 คน (ชาย 1,158 คน หญิง 663 คน) สัญชาติไทย 251 คน เมียนมา 1,306 คน กัมพูชา 96 คน ลาว 38 คน และอื่นๆ 130 คน

3. มีการดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวน 288 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 39 คดี สอบสวนเสร็จสิ้น 249 คดี และมีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้งหมด 249 คดี ชั้นพนักงานอัยการ 364 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 351 คดี และชั้นศาล 396 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 283 คดี และมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 54,180,366 บาท

4. มีการใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน โดยในปี 2562 มีการชี้มูลความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ที่ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เมื่อปี 2560 รวมทั้งตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน ที่ถูกดำเนินคดีระหว่างปี 2558-2561 ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องระวางโทษตั้งแต่ 34-225 ปี

5. ผู้เสียหายเลือกเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน 1,560 คน (ร้อยละ 85.67) ของผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ 1,821 คน สำหรับผู้เสียหาย 261 คน (ร้อยละ 14.33) ไม่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน แต่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอื่น ๆ ที่พึงได้รับ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากกองทุน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 11.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 93 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งจ่ายไป 6.15 ล้านบาท
- ผู้เสียหายสามารถเดินทางออกไปภายนอกสถานคุ้มครอง เช่น ไปเรียน ไปทำงาน หรือออกไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เมื่อไม่ต้องมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยได้จัดทำบัตรประจำตัวและอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยผู้เสียหายต่างชาติ 1,222 คน (ร้อยละ 85.7)
- กำหนดให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษา ไว้ในฉบับเดียวกัน (ภาษาของแรงงานต่างด้าว ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวทุกคนได้รับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

6. การจัดทำแอปพลิเคชัน (Mobile Application)
จัดทำแอปพลิเคชัน (Mobile Application) ชื่อ “PROTECT-U” เพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงบริการการช่วยเหลือคุ้มครอง รวมทั้งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเมื่อพบเหตุค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เส้ยหายได้อย่างรวดเร็วขึ้น

7. มีการเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น พนักงานตรวจแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทีมสหวิชาชีพ และผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น