xs
xsm
sm
md
lg

รับไม่ได้! ดรามา 5 พันอีกแล้ว “คำ ผกา” จวก “หมอทวีศิลป์” คิดแทน “มีเงิน 5 พันอยู่ต่างจังหวัดได้สบายๆ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คำ ผกา” นักจัดรายการปากกล้าเจ้าเก่า จวกแรง “หมอทวีศิลป์” โฆษก ศบค. อย่าเสือกคิดแทนชาวบ้าน ถ้ามีสวนครัว 5 พันบาท อยู่ต่างจังหวัดได้สบายๆ สำทับเงินที่แจก เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ ไม่ใช่เงินโปรยทาน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากวานนี้ (9 เม.ย. 63) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตอบข้อซักถามมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบจากคำสั่งห้ามเครื่องบินพาณิชย์ ตอนหนึ่ง ระบุว่า

“การอยู่ในที่พักถือว่าปลอดภัยที่สุด เพราะสนามบิน ด่านตามแนวชายแดน หรือแม้แต่ด่านธรรมชาติต่างๆ สามารถทำให้ติดเชื้อไวรัสได้ทั้งนั้น ดังนั้น วันนี้ใครที่อยู่ขอบชายแดน หรืออยู่ในต่างจังหวัด มีเงิน 5,000 บาท เหลือแน่ๆ เพราะมีผักสวนครัว รั้วกินได้ อยู่ได้อย่างสบาย ไม่ลำบากอะไร”

ต่อมา “คำ ผกา” หรือ “ลักขณา ปันวิชัย” นักเขียนคอลัมนิสต์ และพิธีกรปากกล้า ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงถ้อยคำแถลงดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Lakkana Punwichai ระบุว่า

“เลิกเสือกกับประชาชน มีหน้าที่ทำงาน ไม่ได้มีหน้าที่เสือก สวนครงสวนครัว เส็งเคร็ง มีหน้าที่เอาภาษี ปชช.มาสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชน แก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ ไม่ได้มีหน้าที่มาคิดแทน คำนวณแทนว่า ห้าพันเกินพอถ้ามีสวนครัว

เงินที่แจกน่ะ เพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินไปได้ ไม่ใช่เงินโปรยทาน ไม่ต้องมาเสือกถึงสวนครัวใคร ถึงกูมีสวนครัว สวนครัวนี้ก็ไม่ใช่ส่วน compensate งานของมึง”

นอกจากนี้ ต่อมา เฟซบุ๊ก Lakkana Punwichai ยังโพสต์อีกว่า
“คนไทยจากพื้นเพชาวบ้านจำนวนมาก เงี่ยนอยากเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ และให้คุณค่าว่า เป็นเพราะตนเอง ขยัน ประหยัด อดทน จึงสำเร็จ ทำไม ไพร่คนอื่นไม่เอาอย่างตัว”

โดยนำเอาเรื่องราวชีวิต นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน “จากเด็กโคราชเลี้ยงหมู สู่โฆษก “ศอฉ.โควิด” มาโพสต์ลงประกอบ
.
บางส่วนบางตอนที่น่าสนใจ ระบุว่า “...โรคดังกล่าว (โควิด-19) ในไทย ได้เปลี่ยน “จิตแพทย์” คนหนึ่ง ที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยดังเปรี้ยงปร้างมาแล้ว (ใครที่อายุ 30 ปีขึ้นไปน่าจะยังพอจำความดังของเขากันได้) ให้พลิกกลับมาเป็น “คุณหมอหน้าจอ” อีกครั้ง คราวนี้คุณจะได้พบกับเขาทุกวัน แถมบางวันยังอาจเห็นหน้าบ่อยกว่าคณะรัฐมนตรี

เขาคือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ชายที่เคยพูดว่า “ชีวิตนี้ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาเป็นหมอ”...”

“...การเติบโตในครอบครัวคนจีน ช่วยสอนเรื่องความเข้มแข็งและอดทนให้กับเด็กชายทวีศิลป์ ลูกคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ครอบครัวที่ในฐานะปานกลาง ทำให้ลูกทุกคนของ เว้งกวง และ เพ็ญนภา แซ่โต๋ว ถูกบ่มเพาะให้ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก

ขณะที่เด็กคนอื่นได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน แต่สนามเด็กเล่นที่เด็กชายทวีศิลป์ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยเป็นประจำ กลับเป็นตลาดเทศบาล 2 เพราะครอบครัวเปิดร้านขายของชำ นพ.ทวีศิลป์ เล่าว่า สมัยก่อนตอนยังเด็ก เป๊ปซี่สักขวดยังเป็นของแพง ขวดหนึ่ง 2.50 บาท นานๆ ทีแม่ถึงจะให้ดื่ม โดยมีข้อแม้ว่า ต้องแบ่งกัน 5 คนพี่น้อง จนพี่ชายต้องเอาหลอดมาขีดเส้นว่าแต่ละคนจะดูดได้ถึงตรงไหน แล้วสลับกันดื่ม นี่คือความทรงจำที่มีความสุขที่สุดในสมัยเด็กของเด็กชายทวีศิลป์
.

ภาพนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จากแฟ้ม
ชีวิตที่แสนเรียบง่ายเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อคุณพ่อเว้งกวง ประสบอุบัติเหตุถูกเลื่อยตัดน้ำแข็งตัดขาจนขาด หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่เพ็ญนภา ก็ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ ช่วงเวลานั้น ทุกคนในครอบครัวต้องรวมพลังกันทำทุกอย่าง เพื่อจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีชีวิตรอด ไม่ว่าจะเป็นการพับถุงกระดาษใส่กล้วยแขก ทำขนมผิงขาย ไม่เว้นแม้แต่การเดินขอเศษอาหารในตลาด เพื่อขนเศษอาหารไปเลี้ยงหมูตามฟาร์มในโคราช...

“...โชคดีที่ทวีศิลป์เลือกในแง่ดี แม้วัยเด็กเขาจะทำได้ดีในวิชาวาดรูป แต่เมื่อมองว่าวิชาด้านการแพทย์เป็นงานที่มั่นคง เพราะฉะนั้น เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา เขาจึงเลือกศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นการสอบโควตาของชมรมแพทย์ชนบท และเมื่อถึงเวลาใช้ทุน เขาก็เลือกอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อจะได้ดูแลคุณพ่ออย่างใกล้ชิด
.
บททดสอบแรกในโลกแห่งการทำงานไม่ง่าย เพราะจิตแพทย์เป็นเสมือนที่พึ่งทางจิตใจให้ประชาชน ตอนนั้นภาคอีสานมีข่าวลือเรื่องเขื่อนลำมูลจะแตก ทำให้ชาวบ้านเกิดอาการเครียดวิตก ในแต่ละวันหมอจบใหม่ต้องให้คำปรึกษาชาวบ้านกว่าวันละร้อยคน นั่นทำให้ นพ.ทวีศิลป์ ค้นพบในสิ่งที่ทำได้ดี และมุ่งหน้าเรียนเฉพาะทางด้านจิตเวชต่ออีก 3 ปีที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และทำงานต่อที่นั่นหลังเรียนจบ...”

รวมทั้งบทสรุปที่น่าสนใจ “...เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเข้าสู่ช่วงที่เข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลต้องการคนที่มีความสามารถในการสื่อสาร และมีความรู้ความเข้าใจด้านการแพทย์ จึงเป็นโอกาสที่ นพ.ทวีศิลป์ จะได้ทำงานที่ถนัดอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะโฆษก ศบค. เรียกได้ว่าเป็นการรับศึกใหญ่ในช่วงบั้นปลายอาชีพข้าราชการเลยก็ว่าได้

เป็นที่น่าจับตามองว่า หาก นพ.ทวีศิลป์ ทำผลงานได้เข้าตารัฐบาลและประชาชนในตำแหน่ง “โฆษก ศอฉ.โควิด” เขาจะได้รับปูนบำเหน็จเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งใด หรือจะเลือกเบนเข็มชีวิตเหมือนอดีตสองโฆษกของ ศอฉ. สมัยปี 2553 อย่าง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ผันตัวจากอาจารย์มหาวิทยาลัยก้าวเข้าสู่วงจรการเมือง โดยเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ลาออกจากข้าราชการกองทัพ มารับตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
.
เรียกได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 อาจเปลี่ยนชีวิตของ นพ.ทวีศิลป์ ไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้

เรื่อง : พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

อ่าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จากเด็กโคราชเลี้ยงหมู สู่โฆษก “ศอฉ.โควิด” เวอร์ชันเว็บไซต์ที่ https://thepeople.co/dr-taweesilp-visanuyothin-spokesman-c…/

ที่มา
https://www.dailynews.co.th/article/766904…
http://motherandchild.in.th/content/view/324/
.
#ThePeople #Social #ทวีศิลป์วิษณุโยธิน #กระทรวงสาธารณสุข #กรมสุขภาพจิต #ศอฉโควิด #ศบค #โควิด19 #COVID19 #FightTogether

ที่น่าสนใจก็คือ “ดรามา 5 พัน” ครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างก็มีแฟนคลับของตัวเอง

คนที่เชียร์ “หมอทวีศิลป์” ก็เชื่อว่า สิ่งที่ “หมอทวีศิลป์” พูดถึงพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ มีส่วนช่วยคนต่างจังหวัดได้มาก และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี เป็นการพูดเพื่อให้กำลังใจ หลังจากช่วยเยียวยาได้บ้าง ซึ่งก็ไม่น่าจะมีใครคิดมากได้ หรือ มองในแง่ลบ เพราะเป็นเรื่องจริง

ขณะที่คนเชียร์ “คำ ผกา” ก็คงเชื่ออย่างที่ “คำ ผกา” เชื่อว่า “หมอทวีศิลป์” ตีกิน “เงิน 5 พันบาท” ทั้งที่เป็นเงินที่ประชาชนสมควรได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคิดแทนต่อจากนั้น แต่ก็ไม่แน่ ถ้าฝ่ายที่พูดไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาล “ลุงตู่” อาจไม่โดนหนักขนาดนี้ หรือกลับชอบเสียอีก ก็เป็นได้?

สุดท้ายบทสรุป มันก็ย้อนกลับมาอยู่ที่เดิม คือ สงครามตัวแทนระหว่าง ฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่ายต่อต่านรัฐบาลนั่นเอง ทำดีแค่ไหน ก็คงไม่เชียร์ฝ่ายรัฐบาลให้เปลืองตัวอยู่แล้ว หรือไม่จริง!?


กำลังโหลดความคิดเห็น