เพจในเครือ กกต.โพสต์เตือน พรรค-ส.ส.บริจาคเงินช่วยโควิด-19 ต้องคำนึง กม. เหตุมีเพดานกำหนดหากพรรคเกิน 3 ล้าน ส.ส.เกิน 3 แสน ต้องนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ชี้ ส.ส.บริจาคนอกเขต รวมเป็นค่าใช้จ่ายพรรค
วันนี้ (10 เม.ย.) เพจเฟซบุ๊กพรรคการเมืองดี การเมืองดี บ้านเมืองดี สร้างการเมืองที่ดีด้วยพลเมือง ซึ่งอยู่ในการดูแลของด้านกิจการพรรคการเมืองสำนักงาน กกต.ได้โพสต์ข้อความ ให้ความรู้กรณีที่ขณะนี้มีพรรคการเมือง ส.ส.บริจาคเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่าในทางกฎหมาย ส.ส.หรือพรรคการเมืองช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติได้ โดยพรรคการเมืองสามารถช่วยเหลือในแต่ละโอกาสเป็นเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือในแต่ละโอกาสได้ไม่เกิน 3 แสนบาทแล้วแต่กรณี แต่ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้นำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ คือ ต้องนำเงินทั้งจำนวนที่ให้เกินไป รวมเป็นค่าใช้จ่าย เช่นพรรคการเมืองให้เงินช่วยเหลือ 3,500,000 บาท หรือกรณีเป็น ส.ส.ให้เงินช่วยเหลือ 350,000 บาท ก็ต้องนำเงิน 3,500,000 บาท หรือ 350,000 บาทไปรวมเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ใช่เอาเฉพาะส่วนที่เกินไปรวม แต่หากการช่วยเหลือของพรรคการเมือง ไม่เกิน 3 ล้าน และของ ส.ส.ไม่เกิน 3 แสนก็ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ส่วนพรรคการเมืองหรือ ส.ส.จะให้เกินเป็นจำนวนเท่าใด ให้คำนึงถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกินพรรคละ 35 ล้านบาท แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท เป็นแนวทางซึ่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต มีเงื่อนไขที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม คือ เป็นการให้ความช่วยเหลือในเขตเลือกตั้งของตน หรือ นอกเขตเลือกตั้งของตน เพราะจะมีผลทางกฎหมายต่างกัน โดยเงินที่พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ความช่วยเหลือนอกเขตเลือกตั้งของตน กฎหมายกำหนดให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง
แต่สำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหากให้ความช่วยเหลือในเขตเลือกตั้งของตน ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของ ส.ส.ผู้นั้น โดยนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือพรรคการเมืองสามารถศึกษาจาก พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ เมื่อถึงคราวการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะได้รายงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เกินวงเงินค่าใช้จ่ายตามที่ กกต.กำหนด