โฆษก ศบค. แถลงนายกฯ กำชับ 6 ประเด็น ชมทุกภาคส่วนต้านโควิด-19 ขอไม่จำเป็นอย่าเพิ่งกลับไทย รัฐจะหาทางช่วย สั่งหาที่กักตัวเพิ่ม เผย ไทยได้ N95 2 แสนชิ้น จ่อเพิ่มเตียงไอซียู ยันมียาพอ แจงเงินเยียวยาให้แต่คนรับผลกระทบ ชี้ อัตราตายยังต่ำ
วันนี้ (9 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวในที่ประชุม ศบค.ขอบคุณและชื่นชมทุกหน่วยงานที่ทำงานป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสั่งให้มีการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ได้ไปตรวจเยี่ยมโรงแรมภัทรา พระราม 9 ซึ่งใช้เป็นสถานที่กักตัวของรัฐ เพื่อดูการทำงานและข้อติดขัดต่างๆ จึงอยากให้คนไทยเข้าใจว่าการที่โรงแรมต่างๆ มาช่วยเช่นนี้เป็นเรื่องดี เพื่อรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับมา หลังจากนี้ จะมีการปรับห้องพักจากห้องละ 2 คน ให้เหลือห้องละ 1 คน เพื่อให้มีมาตรฐานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกฯยังได้กำชับการดำเนินการใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1. การชี้แจงข้อมูลกับประชาชนให้เข้าใจถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง 2. การบริหารจัดการข้อมูลที่มีจำนวนมากและหลากหลาย ให้มีการจัดระเบียบข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจอออกมาตรการต่างๆ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 3. การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ที่ต้องมีสถานกักตัวในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งต้องจริงจังและเข้มงวด โดยอำนวยความสะดวกและควบคุมโรคไปพร้อมกัน ขณะนี้ในส่วนของกระทรวงกลาโหม มีที่พัก 2,037 ห้อง ซึ่งยังไม่เพียงพอ กำลังจะเพิ่มให้ได้ 3,500 ห้อง ส่วนกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีสถานที่กักตัวของรัฐในต่างจังหวัด 460 แห่ง พักได้ 13,000 คน นายกฯสั่งให้มีการบูรณาการการทำงานกัน 4. รัฐบาลยังไม่มีการปรับหรือขยายเวลาเคอร์ฟิว แต่ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือ ใครที่มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านในเวลาดังกล่าว จะมีการผ่อนปรนให้ โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำลังรวบรวมอาชีพต่างๆ ให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อนำเสนอและอนุมัติเพิ่มเติมในทีเดียว เท่าที่ทราบมีกว่า 30 อาชีพ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 5. หน้ากากอนามัย ขณะนี้ได้คลี่คลายปัญหาไปแล้ว ต้องจัดหาให้บุคลากรทางการแพทย์พึงพอใจก่อน ส่วนประชาชนสามารถใช้หน้ากากผ้าได้ โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้จัดหาแล้ว 50 ล้านชิ้น กระทรวงอุตสาหกรรม 20 ล้านชิ้น ขณะนี้ถึงมือประชาชนแล้ว ทั้งนี้ หน้ากากอนามัย N95 ที่สั่งซื้อไป วันนี้มาถึงไทยแล้ว 203,520 ชิ้น และยังมีข่าวดีว่าจากการวิจัยหน้ากากดังกล่าวสามารถนำมาใช้ซ้ำได้รวม 4 ครั้ง นอกจากนี้ ในเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้นำเข้ามาแล้ว 187,000 เม็ด ใช้ไปเพียง 4.6 หมื่นเม็ด คงเหลือ 1.3 แสนเม็ด ยืนยันถ้าไม่มีผู้ป่วยเพิ่มมีเพียงพอแน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ที่ประชุม ศบค.ยังพูดถึงเรื่องโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เรามีโรงพยาบาลสนามใน กทม.และปริมณฑล 98 แห่ง ปริมาณเตียงไอซียูที่ต้องการเพิ่ม 80 เตียง ซึ่งนายกฯได้สอบถามถึงงบประมาณและจะบูรณาการมาให้ ส่วนเครื่องช่วยหายใจเมื่อได้รับพระราชทานมา ก็ถือว่าเพียงพอ แต่การจะใช้งบประมาณดำเนินการอะไรอย่างไรนั้น ที่ประชุมกำชับให้ไปดูข้อกฎหมาย ให้ถูกต้องตามระเบียบ และ 6. มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน นายกฯมีความห่วงใย ต้องการให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแล ทุกหน่วยงานต้องทำงานหนักให้ได้ผลดีที่สุด ต้องให้คนเดือดร้อนจริงๆ ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง จะต้องส่งเงินคืนและถูกลงโทษ อีกทั้งต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าเงินก้อนนี้มีจำกัด ต้องร่วมมือกัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 54 ราย รวม 2,423 ราย ใน 67 จังหวัด หายป่วย 940 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 32 ราย โดยรายที่ 31 เป็นชายชาวฝรั่งเศส อายุ 74 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. มีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี มีอาการปอดอักเสบ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน รายที่ 32 เป็นชายไทย อายุ 82 ปี เริ่มป่วยวันที่ 25 มี.ค. มีไข้ อุณหภูมิ 38.5 ไอ เหนื่อย และเข้ารักษาในโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ จากนั้นวันที่ 30 มี.ค. มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในวันที่ 8 เม.ย. โดยทั้งสองรายเป็นผู้สูงอายุ ทั้งนี้ จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยเมื่อเทียบกับประชากรในจังหวัดนั้นๆ และมีตัวเลขที่สูง อันดับ 1 คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ กทม. ยะลา นนทบุรี อย่างไรก็ตาม ที่ จ.ภูเก็ต วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเพียง 3 คน เพราะมาตรการเชิงรุกในการตรวจหาผู้ป่วย ทำให้การกระจายตัวลดลง สำหรับตัวเลขผู้ป่วย 54 คนวันนี้ เรายังไม่พึงพอใจ ยังต้องเข้มงวดทุกมาตรการทั้งส่วนตัวและสังคม อย่ากะพริบตาเลยทีเดียว ในส่วนจำนวนบุคลากรทางแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง 8 เม.ย. พบว่าติดเชื้อทั้งสิ้น 80 ราย แบ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาล และพยาบาล 36 ราย เป็นแพทย์ 16 คน ในจำนวนนี้ติดเชื้อจากโรงพยาบาล 50 คน ติดในชุมชน 18 คน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 12 คน คนกลุ่มนี้จึงต้องระวัง ถ้าติดโรคขึ้นมาจะกระทบต่อการให้บริการประชาชน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกประกาศกระทรวงเรื่องแนวทางที่เกี่ยวกับการปฏิบัติในช่วงเทศสงกรานต์ เช่น งดเว้นการจัดสงกรานต์ในทุกระดับ งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา งดเว้นการดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในทุกกรณี งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนหมู่มาก ถ้าจะสืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน แสดงความกตัญญูด้วยการกราบไหว้โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือการขอพรทางออนไลน์ก็ช่วยได้ เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกัน ขณะที่มาตรการเข้มงวดในต่างจังหวัด อย่างที่ จ.ชลบุรี เห็นชอบให้ปิดเมืองพัทยาอย่างเป็นทางการตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 9 เม.ย. เป็นเวลา 21 วัน นอกจากนี้ ยังมีบางจังหวัดที่แม้ไม่มีผู้ติด แต่ก็มีมาตรการห้ามบุคคลเข้า-ออกในเขตพื้นที่ ยกเว้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ที่ จ.บึงกาฬ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในช่วงประกาศเคอร์ฟิว เมื่อคืนวันที่ 8 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 9 เม.ย. โดยมีด่านตรวจ 926 จุด มีการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 1,221 ราย รวมกลุ่มมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 114 ราย มีการดำเนินคดี 1,204 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น แสดงว่า มีการละเมิดกันมากขึ้น จึงขอให้ช่วยกันให้ตัวเลขลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูตัวอย่างตัวเลขที่มีผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง อยากให้ดูประเทศเยอรมนี เพราะคนของเขามีระเบียบวินัย ให้ความร่วมมือ แตกต่างจากคนไทย ที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ตนไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ไม่อยากให้เอาไปเป็นวัฒนธรรม จึงขอให้อยู่ในระเบียบวินัยกันอย่างเคร่งครัด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการหารือเรื่องมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยกันนานมาก โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า มีคนไทยรอกลับประเทศโดยทางเครื่องบิน 5,453 ราย ส่วนที่ด่านพรมแดนมีประมาณ 14,664 ราย เข้ามาแล้ว 12,771 ราย ซึ่งนายกฯอยากให้การเข้ามาในประเทศไทยพอเหมาะกับศักยภาพที่จะดูแลเพียงพอ คือ 200 คนต่อวัน เพื่อจะทำให้เราจัดหาที่พักได้ ยืนยันว่า เรายินดีต้อนรับคนไทยทุกคนที่จะกลับประเทศ แต่ถ้าเห็นคิวยาว มีศักยภาพที่จะอยู่ต่างประเทศได้ก็ขอให้อยู่ต่อไปก่อน เพราะการเดินทางจะมีความเสี่ยง หากใครจำเป็นต้องกลับก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กักตัวก่อนเดินทาง 14 วัน มีใบรับรองแพทย์ เมื่อถึงไทยต้องกักตัว 14 วัน ส่วนใครที่อยู่ต่างประเทศแล้วเดือดร้อน รัฐจะหาจัดงบประมาณเพื่อให้อยู่อาศัยตรงนั้นได้ เพราะรัฐสนับสนุนให้อยู่กับพื้นที่ก่อน ส่วนจะให้การช่วยเหลือเท่าไรนั้น กำลังคิดกันอยู่
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับอัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพสูงกว่าเราในทุกๆ ด้าน ไทยถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า เช่น อิตาลี ที่มีอัตราการเสียชีวิต 12.63% สหราชอาณาจักร 11.03% สหรัฐอเมริกา 3.23% ขณะที่ไทยมีเพียง 1.26% ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 นั้น หลายคนพูดว่าทำไมเราแจกน้อย หากไปดูประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี ใช้งบประมาณ 21.8% ของจีดีพี มาเลเซีย 16.5% ส่วนไทย 12.0% มากกว่าญี่ปุ่นที่มี 10.8% และสหรัฐฯ 10.7% ทั้งที่หลายประเทศในนี้เก็บภาษีสูงกว่าเรามาก จึงเห็นว่าน้อยประเทศมากที่จะดูแลได้ดีขนาดนี้