xs
xsm
sm
md
lg

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพระบรมราโชบาย ในการรับมือโควิด-19 ให้สละความสุขส่วนตัว มีวินัยในตัวเอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพระบรมราโชบาย ในการรับมือโควิด-19 แก่รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และพสกนิกร ให้สละความสุขส่วนตัว มีวินัยในตัวเอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยเมื่อวานนี้ (6 เม.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ และพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเหล่าทัพ และโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด ทรงทราบว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลในประเทศไทย จะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จึงได้ทรงจัดหาพระราชทานให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้

ในเบื้องต้นนี้ ได้พระราชทานเครื่องช่วยหายใจ 132 เครื่อง เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 50 เครื่อง ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการติดตั้งในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังพระราชทานหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น หมวก Face Shield 30,000 ใบ และชุดป้องกันการติดเชื้อโรค (PPE) 4,000 ชุด แก่บุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย

ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์จากโรงพยาบาลกรุงเทพ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายตรวจพระสุขภาพ โดยมีคณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทร่วมอยู่ในการตรวจด้วย ผลการตรวจปกติ พระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง

ในการนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชบาย เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความว่า

“มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ เรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่า ยอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือ เข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้ อันที่ 2 ก็คือ จากข้อที่ 1 ก็คือ การมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุด โดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด ก็เชื่อแน่ว่า จะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่าเราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ โรคจะไม่ไป ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติ อดทน ที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัย หรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”

โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตรัสให้กำลังใจแก่ แพทย์และพยาบาล ความว่า “หมออาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้ ฝากเป็นกำลังใจให้คุณหมอกับพยาบาลด้วยค่ะ”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จิตอาสาพระราชทาน เป็นผู้เชิญถุงยังชีพพระราชทาน ไปมอบให้แก่ชุมชนแออัด ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 642 ชุมชน กว่า 170,000 ครัวเรือน ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ ในการฝ่าวิกฤตจากโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ


** เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จะแปลงสารเอาสนุกทำคนแตกตื่น ดึงสติกลับมากันหน่อยถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ก็จำเป็นหรือไม่?

แชร์กันว่อนเน็ตกับประกาศของทางราชการ กรณีมหาดไทย สั่งผู้ว่าฯให้เตรียมพร้อม จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศ ยังไม่ดีขึ้น จนตีความกันวุ่นจะมี “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง”

ความจริง ณ ชั่วโมงนี้ ก็คือ ยังไม่มีประกาศใดๆ ที่ห้ามประชาชนออกนอกบ้าน 24 ชั่วโมง เรื่องนี้ “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ใช้คำว่า “ข่าวลือ” เพราะเอกสารของกระทรวงมหาดไทย เป็นเอกสารที่ส่งไปทุกจังหวัด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเท่านั้น

หนังสือราชการที่แพร่ออกมาเมื่อวันก่อนแล้วโลกออนไลน์ก็พากันตีความ แปลงสารกันเกินจริง โดยปัจจุบันประเทศไทยยังคงควบคุมสถานการณ์ด้วย “เคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง”

ในมาตรการ 6 ชั่วโมง ก็ต้องบอกว่า เป็นเหมือนขอร้องแกมบังคับให้ประชาชนอยู่บ้าน ดูแลตัวเอง และปรับตัวหากทำได้โดยที่ตัวเลขผู้ป่วยลดลง ก็จะไม่มีมาตรการที่เข้มเพิ่มขึ้น แต่หากตัวเลขไม่ลดลง ก็อาจจะต้องมีการปรับเพิ่มมาตรการออกไปตามสถานการณ์

“นพ.ทวีศิลป์” ยืนยันว่า เจตนาของเอกสารดังกล่าว ของปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง เพื่อแปลงเป็นนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และเตรียมการรับมือซึ่งก็ถือว่าใช้คำถูกต้องแล้ว แต่สื่อมวลชนนำไปแปลงสารกันเอง เป็นตุเป็นตะขึ้นมา และมองว่า ส่งผลกระทบให้เกิดความตระหนก จึงไม่เหมาะสมที่จะแชร์ข้อมูลที่บิดเบือนความจริง ซึ่งถือว่ามีโทษภายใต้การบริหารราชการ

ส่วน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ย้ำว่า การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ยังคงต้องใช้การบริหารราชการแผ่นดินแบบปกติ ขออย่าหลงเชื่อสื่อโซเชียลฯ บางสำนักที่ทำให้สถานการณ์นั้นแย่ลง

ต้องบอกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ “สติ” สำคัญที่สุด ความเป็นไปของการแพร่ระบาดยังไม่น่าไว้วางใจ และหากไม่ดีขึ้น “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ก็อาจจะเป็นมาตรการที่จำเป็น และสำคัญ

นั่นเพราะว่า ขนาดมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง ก็ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน ทั้งประเทศล่าสุดกว่า 919 ราย ยังมีพฤติกรรมการรวมกลุ่ม ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อนอกบ้าน สังสรรค์ ปาร์ตี้ ตั้งวงพนัน เปิดบ่อนไก่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนไป 315 ราย และส่งดำเนินคดี 708 ราย

นอกจากนี้ ยังมีพวกปกปิดข้อมูล ปิดบังประวัติ ไม่มีจิตสาธารณะ ไร้ระเบียบ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐก็อะลุ้มอล่วย หยวนๆ กันไป หรือบางทีก็ไม่เอาจริง บางพื้นที่ก็ยังพบโบ้ยกันไป โบ้ยกันมา ไม่มีผู้ตัดสินใจรับผิดชอบจึงเกิดปัญหา นี่ถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ก็คงพบผู้ฝ่าฝืนทำความผิดอีกมากกว่าตัวเลขที่รายงานกันมา

มาดูตัวเลขล่าสุด (6 เม.ย.) ไทยพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51 คน กระจายใน 66 จังหวัด ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,220 คน หายแล้ว 793 คน และเสียชีวิต 26ราย

ดูๆ ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มเหลือเพียง 51 คน เหมือนจะดี แต่ประเมินกันว่ายังไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะมีการรอสอบสวนโรคอยู่อีกจำนวนมาก

ดังนั้น แนวโน้มการติดเชื้อโรคจะเป็นตัวชี้ว่า ทิศทางของสถานการณ์การแพร่ระบาดจะไปทางไหน

ถ้ารัฐจะต้องประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ก็ควรต้องมีมาตรการเตรียมพร้อม ประกาศล่วงหน้า อย่างน้อยอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องยังชีพที่จำเป็น ต้องมั่นใจว่าประชาชนจะใช้ชีวิตในห้วงยากลำบากได้

ถ้ารัฐทำได้ คนในสังคมร่วมด้วยช่วยกัน มีสติ เคอร์ฟิว 24ชั่วโมง ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตระหนกแต่อย่างใด