xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงมาตรการห้ามขายเหล้า บีบ “นักดื่ม” เดินทางหาซื้อจากพื้นที่อื่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.พ.มนูญ ลีเชวงวงศ์
“หมอมนูญ-อาจารย์ มธ.” เตือนรัฐระวังบางมาตรการจะสร้างปัญหาใหม่ ห่วงมาตรการห้ามขายเหล้า บีบ “นักดื่ม” เดินทางหาซื้อจากพื้นที่อื่น แนะออกกฎเข้มห้ามกิจกรรมรวมตัวสุ่มเสี่ยง พร้อมให้รางวัลนำจับ

วันนี้ (4 เม.ย.) น.พ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่มีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะอยากให้ประชาชนอยู่บ้าน ตามแนวทางหยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็กังวลว่า การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยนั้น อาจจะส่งผลให้นักดื่มที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอยู่แล้ว อาจจะมีการเคลื่อนตัว ไปหาซื้อแอลกอฮอล์ข้ามจังหวัดได้ ซึ่งสำหรับกลุ่มนักดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเหล่านั้น คาดว่าร้อยละ 90 อาจจะเคลื่อนตัวนอกพื้นที่ และกลายเป็นทั้งตัวรับและตัวแพร่เชื้อในระหว่างการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด เพื่อไปหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามความต้องการได้

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว
ด้าน ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ถึงสาเหตุการแพร่ระบาดของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีการระบาด พบว่าเกิดจากการติดต่อกันระหว่างบุคคลในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคมที่มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมทางประเพณีต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมที่เข้าไปชมมวยไทย เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.63 ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนในสังคมดื่มหรือไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ได้ ภาครัฐควรจะออกกฎ เพื่อห้ามการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้ พร้อมทั้งใช้กลไกในท้องถิ่น เช่น ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ตำรวจ ในการเข้าไปดูแลควบคุมการจัดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค หรือแม้กระทั่งการกำหนดค่าปรับและรางวัลนำจับให้กับประชาชนทั่วไปที่รายงานการดำเนินกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้ด้วย

“การห้ามซื้อขายแอลกอฮอล์ที่มีขึ้นในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งนั้น อาจจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เพื่อไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามจังหวัดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังอาจจะผลักดันให้เกิดการกักตุนและลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งการผลิตเหล้าเถื่อนในแต่ละพื้นที่เอง ซึ่งการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ จึงอาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโควิด-19 ทั้งยังเป็นการตั้งเป้าหมายที่ไม่ตรงจุด ซึ่งก่อให้เกิดภาระกับภาครัฐที่ต้องมาตรวจสอบควบคุมการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่กำลังคนและทรัพยากรของรัฐมีอยู่อย่างจำกัด ควรจะใช้มาตรการควบคุม-ป้องปรามไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันของคนในสังคมจนก่อให้เกิดการแพร่เชื้อในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วในอนาคต” ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น