โฆษกรัฐบาล เผย “ประยุทธ์” ให้กำลังใจ จนท.ทุกฝ่าย เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอระมัดระวัง ย้ำ ปชช.กักตัว สั่งเร่งหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ คุมราคาสินค้า เผย นำร้องใช้แอปพลิเคชันติดตามกลุ่มเสี่ยงแล้วที่บุรีรัมย์
วันนี้ (26 มี.ค.) ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ทั้งหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และ ฝ่ายความมั่นคง ที่เริ่มปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินวันแรกในวันนี้ และต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ขอให้ระมัดระวังตัวเองให้ปลอดภัย มีความอดทน เสียสละ และให้อภัย พร้อมทั้งสั่งการผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ดำเนินการ และขอความร่วมมือประชาชน 10 ข้อ ดังนี้
1. ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางไปต่างจังหวัด หากมีความจำเป็นให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค เช่น กักตัวเอง 14 วัน
2. ให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด สำหรับผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อติดตามป้องกันควบคุมโรค
3. ให้ประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและครอบครัว
4. ให้ประชาชนยึดหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
5. ให้ประชาชนดูแลตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ไม่มั่วสุม
6. ให้เจ้าหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และสถานที่ให้เพียงพอกับผู้ป่วย
7. ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า ไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เช่น ราคาไข่ไก่ ฯลฯ
8. ให้เจ้าหน้าที่แก้ไขกฎระเบียบการจัดซื้อ และลดภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์
9. ให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
10. ให้เจ้าหน้าที่ดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และชาวต่างชาติในไทยที่มีใบอนุญาตให้ทำงาน
สำหรับการติดตามตัวผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดนั้น รัฐบาลได้ต่อยอดใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน AOT Airports ที่ใช้ติดตามตัวคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ โดยได้ปรับปรุงให้ใช้งานสะดวกขึ้น เพื่อให้แต่ละจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ไปพบกับคนกลุ่มเสี่ยง และให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว โดยระบุสถานที่กักกันตัวเอง กักตัวเอง 14 วัน และทุกวันต้องรายงานตัวผ่านระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสัญลักษณ์สีต่างๆ ว่า ยังคงกักกันตัวและปลอดภัยหรือไม่ และหากผู้ใช้ออกจากสถานที่กักกันเกิน 50 เมตร ไม่รายงานตัว หรือปิดแอป เจ้าหน้าที่จะทราบข้อมูล และลงไปตามหาตัวในพื้นที่ได้ทันที ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้งานแล้วที่ จ.บุรีรัมย์
นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองที่ประจำจุดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ใช้ในการตรวจสอบว่าบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รายงานตัวและกักกันตัวเองครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ได้อีกด้วย