xs
xsm
sm
md
lg

กห.-สธ.ถกรับโควิด-19 ส่อวิกฤตหลังติดเชื้อพุ่ง เล็งกระจายไป รพ.รอง ยันเตียงพอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กห.-สธ.ผนึกกำลังถกโควิด-19 จำลองสถานการณ์รับมือวิกฤตหนัก กทม.-ปริมณฑล ผู้ป่วยแตะหลักพัน เน้นบูรณาการ จัดสรรแพทย์ หลังพบผู้ป่วยใหม่กว่า 30 รายติดกัน 5 วัน เล็งกระจายคนไม่หนักไป รพ.รอง ส่งจิตอาสามีความรู้ดูแล ยันมีเตียงพอ

วันนี้ (19 มี.ค.) เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงโหม พร้อมด้วย นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเป็นประธานการประชุม เพื่อฝึกร่วมจำลองสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับการพัฒนาของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยเป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึง พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ผู้บัญชาการสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คนอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อทดสอบแนวทางการบูรณาการ และการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยกรอบการฝึกเป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ ซึ่งเน้นการจัดตั้งศูนย์ประสานงานทางการแพทย์ในเขต กทม.และปริมณฑล การประเมินและคาดการณ์สถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อจัดสรรและระดมทรัพยากรทางการแพทย์รับมือกับไวรัสโควิด-19 ตลอดจนการรับและส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลให้ทันต่อสถานการณ์ และการติดต่อประสานงานระหว่างวัน การสนับสนุนทางด้านการจัดสรรทรัพยากรสาธารณูปโภค การส่งกำลัง การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารในภาวะเร่งด่วน ตลอดจนถึงการแก้ไขปัญหากรณีที่มีเจ้าหนาที่เจ็บป่วยหรือไม่เพียงพอ

“ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ยึดมั่นและปฏิบัติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงข้อห้าม ข้อบังคับ มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ขอให้รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เชื่อว่าเราทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ในส่วนของทหารมีความพร้อมเรื่องโรงพยาบาลทหารและโรงพยาบาลสนามที่มีทุกจังหวัดขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าจะต้องตั้งไว้ในค่ายทหารหรือมณฑลทหารบกก่อน แต่หากมีสถานที่เอกชนที่มีความพร้อมมากว่าก็จะขยับออกไป วันนี้จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ และรู้ถึงขีดความสามารถว่าต้องเตรียมการรองรับอะไร นอกจากนี้สนามบินใน กทม.ก็ยังสามารถมาปรับพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามได้ด้วยเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณา” พล.ท.คงชีพ กล่าว

ด้าน นพ.พิศิษฐ์กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้ไม่ใช่การจำลองสถานการณ์ เพราะเราอยู่ในสถานการณ์จริง ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่ในวันนี้ (19 มี.ค.) เพิ่มอีกจำนวน 35 ราย ถือเป็นวันที่ห้าที่มีผู้ป่วยเกินกว่า 30 รายติดต่อกัน อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ การฝึกวันนี้เป็นการเตรียมรองรับสถานการณ์จริง เช่นกรณีเตียงของผู้ป่วยที่มีอยู่ในทุกสถานพยาบาลของภาครัฐและเอกชนทุกสังกัด รวมถึงกองทัพ โดยขณะนี้มีคนป่วยเข้ามาทุกวันและไม่ทราบว่าแต่ละวันจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังมีหลายระดับ เทียบจากผู้ป่วย 100 คน มีอาการหนักมากที่ปัจจุบันมี 5 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้ห้องพิเศษ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ 15 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมาก 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะต้องวางแผนว่าจะนำผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปไว้ที่ไหน อาจจะต้องมีโรงพยาบาลสนาม หรือเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทาง ทางเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในระดับหนึ่ง ถ้าเกินขัดความสามารถก็ต้องอาศัยโรงพยาบาลของกองทัพ โรงพยาบาลภาคเอกชน ตลอดจนถึงโรงพยาบาลสนามที่ตั้งขึ้นมาและจัดให้เป็นพื้นที่จำกัดบริเวณ ดังนั้น การฝึกวันนี้จะทำให้เราเห็นว่าเราจะประสบปัญหาอะไรบ้างเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วาง กทม.และปริมณฑลเป็นพื้นที่ทำงานร่วม เพื่อให้เกิดการทำงานที่เสริมประสิทธิภาพ หาก กทม.เต็มขีดความสามารถก็จะกระจายไปตามจังหวัดปริมณฑล

เมื่อถามว่า จำนวนเตียงและห้องพักเพียงพอต่อผู้ป่วยหรือไม่ นพ.พิศิษฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยหนักมากจำนวน 3 ราย ที่จะต้องใช้ห้องและเครื่องมือพิเศษ แต่ผู้ป่วยที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระดับกลางเพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่กระจายเชื้อในจุดอื่น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งหากผู้ป่วยมีจำนวนมากจะมีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับหนักมากที่ต้องดูแลพิเศษ ระดับปานกลาง และระดับไม่หนักมาก

“อาจจะกำหนดเป็นเดือนพิเศษที่ให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่หนักมาอยู่ร่วมกัน โดยกำหนดพื้นที่ว่าจะนำไปไว้ที่ไหน อาจจะเป็นโรงพยาบาลรองที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเต็มรูปแบบ หรือโรงพยาบาลกองทัพที่เราวางไว้หลายจุด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะมีอยู่ในแผนว่ามีกี่จุด และในส่วนของเหล่าทัพ ตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลกาชาด และโรงพยาบาลในหมาวิทยาลัยว่ามีกี่จุด เพราะคนที่มีอาการหนักต้องอยู่โรงพยาบาลใหญ่ที่มีเครื่องมือและทีมแพทย์พร้อม” นพ.พิศิษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้ผู้ป่วยขนาดกลางยังเหลือพื้นที่รองรับหรือไม่ นพ.พิศิษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้เราไม่ได้แยกผู้ป่วยหนักและเบา หากโรงพยาบาลไหนตรวจเจอผู้ป่วยก็ให้รับคนไข้ และยังไม่มีระบบการส่งต่อ แต่การฝึกวันนี้จะกำหนดระบบการส่งต่อ เช่นหากไปตรวจที่สถาบันบำราศนาดูร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ต้องดูแลผู้ป่วยหนักหากอาการไม่หนักก็ต้องส่งต่อไปที่อื่น และในวันนี้ (19 มี.ค.) หาแผนดำเนินการเรียบร้อย ในวันที่ 20 มี.ค.ก็จะจัดส่งทันที แต่ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยสะสมประมาณ 200 กว่าคน และกลับบ้านได้แล้ว 30 กว่าคน ส่วนที่เหลืออาการไม่หนักจะกระจายอย่างไร ทั้งนี้ยืนยันว่าผู้ป่วยทุกรายได้ให้อยู่โรงพยาบาลทั้งหมด จะไม่มีการส่งกลับบ้าน เพียงแต่ว่าโรงพยาบาลที่ส่งไปจะเป็นโรงพยาบาลขนาดไหน และดูแลไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ สำหรับเตียงผู้ป่วยปัจจุบันมีเพียงพอ เพียงแต่เตรียมเอาไว้หากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่อัตรากว่า 30 รายต่อวัน แต่เมื่อสถานการณ์ไปถึงจุดหนึ่งอาจขึ้นหลักพัน ซึ่งต้องปรับตัว โดยกำหนดแผนเบื้องต้นไว้ว่าหากพบผู้ป่วย 1,000 คน จัดการอย่างไร และระดับ 2,000 คน 3,000 คน หรือมากกว่า 5,000 คนจะทำอย่างไรต่อไป หากเราบางระดับได้เช่นนี้จะไม่เกินปัญหาคนไข้ล้นเตียง

“หากได้คุยกันแล้วนำแผน และทรัพยากร ตลอดจนถึงกำลังคนของทุกฝ่ายมาร่วมกันเพื่อบูรณาการ เราจะบริหารจัดการได้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าคนไข้จะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เราต้องดำเนินการรองรับให้ได้ทั้งหมด เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้ในแผนและจะประกาศใช้แผนดังกล่าว ซึ่งจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากจำลองเหตุการณ์วันนี้แล้วพบว่าผู้ป่วย 1,000 คนทำให้เกิดปัญหา เราก็จะแก้ไขได้ แต่ขณะนี้ผู้ป่วยยังไม่ถึง 1,000 คน อย่างไรก็ตาม เตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมในช่วงเย็นวันนี้ต่อไป” นพ.พิศิษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่าผู้ป่วย 3 ระดับ เราสามารถรองรับแต่ละระดับได้สูงสุดเท่าไหร่ นพ.พิศิษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดไว้ แต่เรามีศักยภาพ ซึ่งต้องรอรวบรวมสถานการณ์ทั้งหมดแล้วจะรับทราบว่าจะรองรับได้ทั้งหมดเท่าไหร่ เพราะขณะนี้ห้องและเครื่องมือพิเศษรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยหนัก 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากมีผู้ป่วย 1,000 ราย คิดเป็นผู้ป่วยหนัก 5 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่ 50 ราย ทางโรงพยาบาลใหญ่จะดูเคสหนักเท่านั้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เรามีอัตรากำลังตามแผนที่มีอยู่ ทั้งนี้อาจจะพัฒนาจิตอาสาที่มีความรู้ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น