xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลให้กำลังใจผู้กักตัวอยู่บ้าน ย้ำไม่ปิดศูนย์กักกัน ผุดใช้แอปตามตัวกลุ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 แถลงรัฐมีมาตรการรองรับโควิด-19 ระบาด ขอให้กำลังใจคนถูกกักตัวที่บ้าน ย้ำเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสุด แจงยังไม่ได้ปิดศูนย์กักกัน ดีอีเอสพร้อมใช้แอปพลิเคชันตามตัวกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สำหรับกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับไวรัสโควิด-19 เป็นโรคแพร่ระบาดทั่วโลกนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐบาลได้คิดและมีมาตรการรองรับเรียบร้อยทุกอย่างแล้ว ไม่ได้น่าตกใจหรือน่าเป็นห่วงมากเกินไป ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและถูกกักกันตัวไว้ที่ภูมิลำเนานั้น พวกเขาเป็นเพียงผู้มีความเสี่ยง ไม่ใช่ผู้ป่วย อยากให้ประชาชนในละแวกบ้านอย่ารังเกียจ เขาคือญาติ เขาคือคนไทย ต้องให้ความรักและให้กำลังใจ เพราะต้องถูกกักกันตัวในบ้าน 14 วัน ดังนั้นจะทำให้เขาผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวชี้แจงการเปลี่ยนแปลงที่กักกันตัวจากศูนย์ของรัฐไปยังบ้านของตัวเองแทนนั้น ยืนยันว่าเรายังไม่ได้ปิดศูนย์ของรัฐ ยังคงไว้ทุกอย่างเผื่อเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งจะใช้กรณีใดขึ้นอยู่กับทางแพทย์ หากการสื่อสารของตนเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ทำให้สับสนต้องขอโทษด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องพื้นที่กักกันตัวของรัฐในพื้นที่จังหวัด เราพยายามจะหาพื้นที่ส่วนต่างๆ แต่มีปัญหาว่าบางพื้นที่ที่เหมาะสมแต่ประชาชนไม่ยินยอม หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะแต่ประชาชนยอมรับ ทำให้ต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อดูแล้วอาจจะไม่พร้อม แต่ยืนยันว่าเป็นความพยายามของทุกส่วนในการร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่ถ้าคนเหล่านั้นไปกักกันตัวที่บ้านจะมีความสะดวกสบายตามอัตภาพ มีพี่น้องดูแลเรื่องอาหารการกิน มีเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งมีอำนาจควบคุมและลงโทษ อีกทั้งยังมีภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ช่วยการดูแล เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เราจึงมั่นใจว่าการย้ายไปกักกันตัวที่บ้านจะมีทั้งความสะดวกสบายและประสิทธิภาพแน่นอน

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวถึงการอนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ว่าเดิมทีทุกประเทศต้องขอวีซ่า ต่อมาเพื่อความสะดวกจึงมีฟรีวีซ่า จำนวน 56 ประเทศ ใน 56 ประเทศนี้มีฮ่องกง อิตาลี เกาหลีใต้ รวมอยู่ด้วย เราจึงยกเลิกฟรีวีซ่าของ 3 ประเทศดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีการยกเลิก VISA on Arrival (VOA) จำนวน 18 ประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยคณะกรรมการระดับชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ยืนยันไทยไม่ได้ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศ และยังไม่ปิดประเทศ แต่ถ้าเข้ามาจะต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูต และดำเนินการตามขั้นที่กำหนดไว้ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค - 30 ก.ย. ซึ่งจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบต่อไป

รมว.มหาดไทยกล่าวว่า สำหรับตัวเลขผู้ที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. - 7 มี.ค. มีจำนวน 1,882 คน จังหวัดตามตัวพบแล้ว 1,815 คน มีการกักตัวที่พำนักและมีอาการปกติ 1,791 คน มีไข้ 24 คนซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้กำลังติดตามตัว 67 คน ส่วนผู้ที่เดินทางกลับประเทศระหว่างวันที่ 8-11 มี.ค.มีจำนวน 798 คน มีการกักตัวอยู่ที่สถานกักตัวของรัฐ 370 คน และกักตัวที่บ้าน 406 คน มีไข้ 22 คน

นพ.รุ่งเรืองกิจ กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมทางทะเล ได้แก่ 1. เรือที่จะเข้ามาต้องอยู่ในจุดที่กำหนด 2. มีการแจ้งข้อมูลสุขลักษณะเป็นอย่างไร มีใครบ้าง ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และ 3. จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเพื่อติดต่อต่อไป ทั้งนี้ การเดินทางทางเรือจะมีความเสี่ยงสูง เราจะกำหนดให้เรืออยู่ในจุดเฉพาะ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วถึงจะให้ขึ้นฝังได้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสได้ร่วมกับสตาร์ทอัพ จัดทำแอปพลิเคชันชื่อว่า SydeKick สำหรับใช้ในการติดตามผู้ที่จำเป็นต้องกักกันตัวในบ้าน โดยจะให้ผู้ที่ถูกกักกันตัวดาวน์โหลดไว้ในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าบุคคลดังกล่าวอยู่พื้นที่ใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ จะมีบัญชีรายชื่อของบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในเขตนั้นๆ เพื่อติดต่อสอบถาม เมื่อได้รับการตอบกลับจากผู้ถูกกักกันตัว จะแสดงโลเกชันว่าบุคคลนั้นอยู่จุดใด ถ้าอยู่นอกเหนือพื้นที่ควบคุมเจ้าหน้าที่จะได้ทราบข้อมูล หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย และถ้ามีการปิดเครื่องโทรศัพท์หรือไม่มีการเคลื่อนไหวจนผิดสังเกต จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทันที แอพพลิเคชั่นนี้ถือเป็นมาตรการเสริมอีกมาตรการหนึ่งให้เคร่งครัดมากขึ้น

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ดีอีเอสยังได้พัฒนาแอพปลิเคชันของการท่าอากาศยาน ใช้สำหรับตามตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในกรณีมีความจำเป็น โดยทุกคนที่เดินทางเข้ามาเมื่อถึงสนามบินผ่านจุดคัดกรองที่ 1 จะให้ทุกคนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว พร้อมใส่ข้อมูลบอร์ดดิ้งพาส ข้อมูลส่วนตัว ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ รูปถ่ายพาสปอร์ต สามารถกรอกเสร็จได้ภายใน 2 นาที เมื่อครบถ้วนถึงจะให้เข้าเมือง แอปพลิเคชันนี้เตรียมการไว้ถ้าจำเป็นจะต้องติดตามตัวบุคคลนั้นหากบุคคลที่ร่วมในเครื่องบินมีอาการป่วย ข้อมูลทั้งหมดนี้จะใช้เพียง 14 วัน หลังจากนั้นจะถูกลบเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีการเริ่มใช้แล้วตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 12 มี.ค. ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ามาในประเทศไทยไม่ต้องกังวลกรณียังไม่มีเบอร์โทรศัพท์ไทย เพราะสามารถซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ได้ที่สนามบินได้ในราคา 49 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้ 14 วัน เพื่อรองรับแอปพลิเคชันนี้

รมว.ดีอีเอสกล่าวว่า ส่วนข้อสังเกตว่าทำไมไม่ใช้กำไลอีเอ็มในการติดตามตัวนั้น ตอนแรกเรามีแนวคิดนี้ แต่คิดว่าแอปพลิเคชันตอบโจทย์และไม่จำกัดจำนวนมากกว่า หากใช้ริสต์แบนด์หรืออุปกรณ์กำไลจะต้องลงทุนจำนวนมาก ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก ซึ่งแอพปลิเคชันดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมให้เจ้าหน้าที่ เพราะทุกคนมีโทรศัพท์จะช่วยแก้ปัญหาได้ ใช้งบประมาณไม่มาก และไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ในการติดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น