“วีระศักดิ์” เตือนสติ “ไวรัสโควิด 19” มาแล้วก็ไป อย่ามองแค่วิกฤต แนะปรับใช้งบประมาณ “ป้องกัน..พยุง..ชะลอ..เเก้ไข..หรือเยียวยา” ด้านการท่องเที่ยว ได้เวลา “ผ่าตัดใหญ่” เพื่อโอกาสจากการพัฒนาที่รออยู่!
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางวิกฤต “ไวรัสโควิด-19” ที่โลกกำลังตื่นกลัว เนื่องจากการแพร่ระบาดในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ แม้ว่าในประเทศไทยยังถือว่าต่ำ แต่ก็ยังประมาทไม่ได้...
วันนี้ (8 มี.ค. 63) เฟซบุ๊ก วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat โพสต์บทความ หัวข้อ “บันทึกไว้ในวันเสาร์ที่ 7 มี.ค. 2563 (2020)”
ในที่นี้ ขอคัดเอาประเด็นและเนื้อหาที่น่าสนใจมานำเสนอ โดยระบุว่า “วันนี้เป็นช่วงที่ครบเดือนของการที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศของการระบาดของไวรัส โควิด-19
ข้อสังเกตที่ทุกฝ่ายยอมรับ คือ ถ้าใครไม่ปรากฏอาการใน 14 วัน ก็สบายใจได้ว่า คนๆ นั้นยังปลอดภัยจากโรคนี้อยู่
แต่มีเงื่อนไขว่า คนเดียวกันนั้น ต้องไม่ได้เผลอรับเชื้อนี้มาเพิ่มเติมในระหว่างนั้น
นี่คือที่มาที่ต้องมีการให้กักตัวเองบ้าง..บังคับกักตัวรอดูอาการบ้าง ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะร่วมมือ
เพราะมันคือความรู้รับผิดชอบ..ของใครก็ตามที่ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า ตัวเองเผลอรับเชื้อมาแล้วหรือไม่
สถานการณ์ในไทยเวลานี้..มีปรากฏผู้ติดเชื้อก็ยังต่ำกว่า 50 คนมาตลอด
และทุกคนที่พบว่าติดเชื้อก็รู้ว่า ติดมาจากชาวต่างชาติหรือติดจากคนไทยที่ใกล้ชิดสัมผัสกับชาวต่างชาติใกล้ชิดทั้งนั้น
นับว่าระบบคัดกรองที่ไทยเริ่มก่อน..และทำนานพอนี้..มีประสิทธิผลดีมาก
เพราะหากหลุดตาจากระบบตรวจคัดกรองไปมาก
ป่านนี้ตัวเลขคงทะลุหลายร้อยหรือไปถึงพันเสียแล้ว
เพราะพอผ่านไปทุก 14 วัน..ยังไงๆ ถ้าเค้ามีอาการเพราะติดเชื้อ เค้าก็ซ่อนมันไว้ไม่ได้อยู่แล้ว..
จุดนี้จึงขอชื่นชมระบบที่ไทยมี..ครับ
อย่างไรก็ดี..ตัวเลขการระบาดในไทยแตกต่างจากตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชนิดไม่เห็นฝุ่นเชียวครับ
เมื่อวานนี้ ผมได้รับเชิญจากผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านการท่องเที่ยวภาคภาษาอังกฤษ คุณ อิมเทียส มุคบิล ให้ไปร่วมแสดงความคิด ถอดประสบการณ์ และมองอนาคตท่องเที่ยวไทย ที่สำนักงานใหญ่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
จึงขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าต่อในที่นี้นะครับ
ข้อแรก...
ในเมื่อสังคมโลกและสังคมไทย..ตื่นตระหนกมากกว่าแค่ตื่นตัว
ข่าวลือ..ข่าวปล่อย..ข่าวไม่จริงจึงไหลเร็วแชร์เร็วและมีผู้พร้อมเชื่อเยอะ..
สิ่งที่ควรทำในทุกสังคม จึงควรมีศูนย์ข่าวที่เป็นทางการเพื่อแถลงข่าวสารเรื่อง โควิด-19 ทุกวัน โดยผมเสนอว่าแถลงเป็นทางการทุก 11.00 น.กับอีกทีตอน 17.00 น.
เพื่อให้ผู้คนแน่ใจว่าไม่ว่าสงสัยอะไรเกี่ยวกับโควิด-19 ก็ให้รอฟังจากการแถลงชี้แจงสองช่วงเวลานี้ของทุกวัน..วันละ 2 เวลา
อะไรที่ฟังจากแหล่งนี้..แปลว่าจริงตามนี้เท่านั้น
การสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างนี้ สำคัญที่สุด
เพราะจะช่วยลดความอลหม่านลงได้...และจะช่วยให้คนทำงานสนามไม่ต้องให้สัมภาษณ์เปะปะตลอดเวลาเพราะอาจมีสาระที่ขัดหรือแย้งกันเอง
เวลาที่ไม่ใช่ 11.00 และ 17.00 ทีมที่จะต้องมาแถลงข่าวสารจะได้มีเวลาตรวจสอบ..สอบทานข้อมูลให้เรียบร้อยได้ก่อน
บรรดาสำนักข่าวเอง ก็จะได้มีเวลาที่แน่นอนในการรับข่าวสารไปถ่ายทอดต่อ
ข้อสอง...
เมื่อมีสาระที่จะแถลงข่าวเป็นภาษาท้องถิ่นวันละสองหนแล้ว..ก็ต้องนึกถึงการแถลงข่าวเป็นภาษาต่างประเทศที่สาระไม่ขัดแย้งกันด้วย
แต่อาจให้มีการแถลงวันละครั้งเดียวตอน 11.00 หรือตอน 17.00 ก็ได้
เพราะสังคมชาวต่างชาติที่อาศัยในพื้นที่และโลกสากลมีมากและหลากหลาย..
จึงพึงได้รับข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อมั่นได้..อ้างอิงได้
ข้อสาม...
การประเมินผลกระทบ..ทั้งในด้านสุขภาวะของพื้นที่..ความเสียหายและโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ..ความเสี่ยงทางสังคมและโอกาสใหม่ทางสังคม ควรได้รับการประมวลมา ทยอยนำเสนอต่อสาธารณะ...สม่ำเสมอ..เพื่อมิให้เกิดการรับรู้เฉพาะผลเสียหายอย่างเดียว
เพราะถ้าสังคมรับรู้ว่า ในทุกวิกฤตก็ย่อมก่อโอกาสให้เสมอ
สังคมจะได้ไม่เสียกำลังใจ
และมีมุมที่จะมองอะไรๆ ใหม่ๆ สม่ำเสมอ
ข้อสี่...
การตำหนิวิจารณ์ใครไม่ว่าฝ่ายไหน..หรือในบทบาทใดในสภาวะพิเศษเหล่านี้..เป็นสิ่งที่ย่อมต้องทำได้เพราะนั่นคือการระบายออกอย่างหนึ่ง..เป็นสิทธิทางสังคมอย่างหนึ่ง..
แต่จะเป็นประโยชน์ที่สุดถ้าหากจบท้ายด้วยข้อเสนอแนะที่เห็นว่าควรทำได้.. และผู้ออกมาวิจารณ์นั้นจะเข้าช่วยทำประโยชน์สาธารณะต่อจากนั้นได้อย่างไร
ข้อห้า...
ถ้าเชื่อว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส
แม้โอกาสนั้นๆ ไม่อาจจะชดเชยความเสียหายจากวิกฤตก็ตามแต่
แต่ถ้าไม่ปล่อยให้ความเสียหายเล่นบทเดี่ยวไปจนจบ..แม้ใช้โอกาสได้เเม้สักนิด..มันก็ยังเป็นประโยชน์ล่ะ....
สิ่งที่พอจะเป็นโอกาสในสภาวะวิกฤตโควิด-19 หนนี้ เท่าที่ผมพอจะนึกเอาเร็วๆ ได้
เช่น..ปีงบประมาณแผ่นดินหนนี้..มีเงินแผ่นดินที่ปกติให้ราชการใช้ 12 เดือน
แต่บัดนี้ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่งได้ผ่านออกมาใช้โดยเหลือเวลาแค่มีนา-สิ้นกันยา คือ 7 เดือน
ถ้าเราสามารถมีฉันทามติให้เปลี่ยนแปลงรายการใช้จ่ายให้มาเป็นเรื่องที่ควรจะเป็นทั้งเพื่อป้องกัน.. พยุง.. ชะลอ..เเก้ไข..หรือเยียวยา จากการมาอย่างรวดเร็วของโควิด19 ได้มากเท่าไหร่..ก็จะใช้ประโยชน์ที่เกิดได้จากวิกฤตมากเท่านั้น...
ที่สำคัญ นอกจากข้อเสนอการใช้เงินผัน จ้างงานคนท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่น และพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ แล้ว
“วีระศักดิ์” ยังเห็นว่า “โควิดมา แล้วโควิดก็จะผ่านไป” แต่การท่องเที่ยวไทยยังอยู่ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ผ่าตัดใหญ่” หลายเรื่อง โดยเฉพาะที่รู้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำ เพราะมัวแต่รับแขก วันนี้ห้องรับแขกว่าง ได้เวลาที่จะต้องรื้อใหม่เพื่อทำให้ดีขึ้น
“นับจากนี้ รันเวย์ใหม่ที่กำลังต้องสร้าง..อาคารผู้โดยสารใหม่ที่กำลังจะเชื่อม...สนามบินต่างจังหวัดที่กำลังจะเสร็จ เช่น ที่เบตง..อาคารผู้โดยสารใหม่ที่สนามบินแม่สอด...และอีกหลายๆ สนามบิน
รถไฟทางคู่จะมาถึงสารพัดอำเภอในสามสี่ปีแน่นอน ทุกทิศทั่วไทย
รถไฟความเร็วสูงจะวิ่งในสามทิศทางทั้งดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
สายกรุงเทพ-หัวหิน...สายกรุงเทพ-เชียงใหม่
รถไฟจีนจะมาถึงเวียงจันทน์ในสองปีหน้า.และจะข้ามมาถึงหนองคายในเกือบจะต่อเนื่อง..และที่สุดจะผ่านขอนแก่น-โคราช-แหลมฉบัง
เราเอาเวลาที่จะว่างลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดลูกค้าต่างประเทศ มาวางแผนเรื่องเหล่านี้ร่วมกับฝ่ายขนส่งเดินทางดีมั้ยครับ
ท่องเที่ยวไทยยังไงก็ยังเป็นที่นิยมของโลก..
นานๆ จึงจะมีโอกาสที่ไม่ค่อยมีแขกมาแน่นอย่างนี้
ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสสร้างฐานเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืนระยะยาวกันดีกว่าครับ”
สำหรับ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคยมีตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมาแล้วหลายตำแหล่ง อาทิ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
อดีตประธานบอรด์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อดีตประธานสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) อดีตประธานองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
อดีตเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ อดีตอธิการวิทยาลัยการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
ต้องยอมรับว่า โพสต์ของ “วีระศักดิ์” น่ารับฟังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ที่ถือว่าต้องรับผิดชอบโดยตรง และเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการรับมือกับ ไวรัสโควิด-19 และการรับมือกับวิกฤตท่องเที่ยวที่เป็นผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อยู่ในเวลานี้
โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ว่า “ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส” และเมื่อค้นหา ก็จะค้นพบ ต่อให้เพียงเล็กน้อยก็ถือว่า เป็นประโยชน์อันล้ำค่าเลยทีเดียว