“ส.ว.คำนูณ” ชี้เปิดสภาสมัยวิสามัญรับฟังความเห็น นศ.อาจไม่ได้ผลรวมเร็วทันใจ แต่ที่ได้ทันทีคือได้แสดงความจริงใจที่จะหาทางออกร่วมกันของทุกรุ่นทุกฝ่าย และได้เห็นว่ารัฐสภาเป็นเวทีประนีประนอมอำนาจ ไม่ใช่เวทีใช้เสียงข้างมากรักษาความชอบธรรมรัฐบาล
วันนี้ (2 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn กรณีสนับสนุนให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ว่าการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 122 หรือมาตรา 123 ก็ตาม คณะรัฐมนตรีสามารถร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินจากสมาชิกของทั้ง 2 สภาได้ ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 165 อาจไม่ได้ผลเร็วทันใจทั้งหมด แม้จะลงเอยจนถึงขั้นตั้งกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่เปิดให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วยได้แล้ว หรือตั้งคณะกรรมการของรัฐบาล หรือรัฐสภาก็ตาม ก็ยังต้องปรับจูนเข้าหากันอีกพอสมควร ในเบื้องต้นอาจจะไล่ไม่ทันความขัดแย้งข้างนอกระบบด้วยซ้ำ แต่ที่ได้ผลทันทีคือได้แสดงความจริงใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลอย่างน้อย 2 ทาง
ทางหนึ่ง ความจริงใจและความตั้งใจจริงที่เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นจะต้องแสวงหาทางออกร่วมกันของทุกรุ่นทุกฝ่ายทุกสถานะ โดยรับฟังซึ่งกันและกันเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมจะอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างไม่แตกแยก อีกทางหนึ่ง ความจริงใจและความตั้งใจจริงที่เห็นว่ารัฐสภาคือเวทีแห่งการประนอมอำนาจ หาใช่เพียงเวทีแห่งการใช้เสียงข้างมากสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลเท่านั้น
แม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งหมดอาจจะไม่เห็นความจริงใจนี้ในทันที ตรงกันข้ามอาจเห็นว่าเป็นเพียงการชลอจุดเดือดที่พวกเขาเชื่อว่ามาถึงแล้วและเขาได้เปรียบ แต่เชื่อว่าคนที่เข้าใจย่อมมี ทั้งในหมู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งก็มีมากเช่นกัน
รายละเอียดข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn
‘เปิดสภาสมัยวิสามัญ’ แล้วได้อะไร ?
(ที่เสนอความเห็นไป ณ ที่นี้เมื่อวันก่อน มีทั้งคนเห็นด้วย คนเห็นต่าง คนสงสัย และแน่นอน..คนด่า แต่ในฐานะคนไทยรุ่นที่คุณหมออายุน้อยผู้ควบคุมการตรวจ EST เพิ่งเรียกว่า ‘ลุง’ คนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงของสังคมไทยมาหลายครั้ง จะให้นิ่งเฉยก็กระไรอยู่ เมื่อได้พูดไปแล้วก็ขอพูดขยายความต่ออีกสักเล็กน้อย...)
หากมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 122 หรือมาตรา 123 ก็ตาม คณะรัฐมนตรีสามารถร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินจากสมาชิกของทั้ง 2 สภาได้ ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 165
ถามว่าจะแก้ปัญหาได้ทันทีมั้ย ? ตอบว่าไม่ได้ผลเร็วทันใจทั้งหมดหรอก !
เพราะแม้จะลงเอยจนถึงขั้นตั้งกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่เปิดให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วยได้แล้ว หรือตั้งคณะกรรมการของรัฐบาลหรือรัฐสภา ก็ตาม ก็ยังต้องปรับจูนเข้าหากันอีกพอสมควร ในเบื้องต้นอาจจะไล่ไม่ทันความขัดแย้งข้างนอกระบบด้วยซ้ำ
แต่ที่ได้ผลทันทีคือได้แสดงความจริงใจและตั้งใจจริงของรัฐบาล !
ความจริงใจและความตั้งใจจริงในอย่างน้อย 2 ทาง
ทางหนึ่ง ความจริงใจและความตั้งใจจริงที่เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นจะต้องแสวงหาทางออกร่วมกันของทุกรุ่นทุกฝ่ายทุกสถานะ โดยรับฟังซึ่งกันและกันเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมจะอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างไม่แตกแยก โดยรับฟังจากสภาชิกรัฐสภาที่มีลักษณะเป็นตัวแทนความคิดของประชาชนทุกรุ่นทุกฝ่ายทุกสถานะอยู่ในระดับหนึ่งเป็นเบื้องต้น
อีกทางหนึ่ง ความจริงใจและความตั้งใจจริงที่เห็นว่ารัฐสภาคือเวทีแห่งการประนอมอำนาจ หาใช่เพียงเวทีแห่งการใช้เสียงข้างมากสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลเท่านั้น
แม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งหมดอาจจะไม่เห็นความจริงใจนี้ในทันที ตรงกันข้ามอาจเห็นว่าเป็นเพียงการชลอจุดเดือดที่พวกเขาเชื่อว่ามาถึงแล้วและเขาได้เปรียบ (เหมือนที่มีผู้วิพากษ์ข้อเสนอผมในบางเพจ) ก็เถอะ แต่เชื่อว่าคนที่เข้าใจย่อมมี ทั้งในหมู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งก็มีมากเช่นกัน
ประเด็นที่ได้ผลทันทีแค่นี้ - คุ้มหรือไม่ — สุดแท้แต่มุมมองของแต่ละท่าน
แน่นอนว่ามุมมองของรัฐบาลเป็นกุญแจเบื้องต้นของการนี้
จึงเสนอมาเพื่อโปรดพิจารณา