ตัวแทน 30 พรรคการเมืองเล็ก ยื่นหนังสือ กกต.ค้านรับรอง “ไพบูลย์” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชี้คำนวณเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ไม่มีสถานะเป็น ส.ส.พรรคเก่า ตาม รธน. 91 (5) หวัง กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นบรรทัดฐาน เจ้าตัวยันเช็กข้อ กม.ดีแล้ว
วันนี้ (30 ม.ค.) นายก้องภพ วังสุนทร หัวหน้าพรรคผึ้งหลวง ในฐานะรองประธานกลุ่มพรรคสหมิตร ซึ่งประกอบไปด้วย 30 พรรคการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อคัดค้านการประกาศรับรองนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ หลังมีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากนายไพบูลย์ ไม่มีสถานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 56 (2) และตามประกาศผลการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ประกอบกับเห็นว่าการคำนวณของ กกต.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (5) ซึ่งบัญญัติไว้ว่าให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แสดงว่าในวันที่กกต.คำนวณใหม่ นายไพบูลย์ ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูปแล้ว เนื่องจากพรรคสิ้นสภาพ และนายไพบูลย์ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ซึ่งคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องสังกัดพรรค การคำนวณใหม่นายไพบูลย์ต้องไม่ได้รับการจัดสรรเป็น ส.ส. จึงอยากให้ กกต.ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการคำนวณคะแนนใหม่ของ กกต.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“การคำนวณของ กกต.เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ถูกต้องทุกอย่าง แต่ครั้งนี้ กกต.ละเว้นรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (5) อยากให้ กกต.ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง” นายก้องภพกล่าว
นายก้องภพยังกล่าวว่า การคำนวณครั้งนี้ กกต.จะอ้างว่านายไพบูลย์ ได้ย้ายไปเป็นสมาชิกพรรค พปชร.แล้วไม่ได้ เพราะการคำนวณคะแนนใหม่ในวันที่ 28 ม.ค. นายไพบูลย์ไม่ได้อยู่ในสถานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป ถ้า กกต.จะตอบว่านายไพบูลย์ ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค พปชร.ก็ไม่ได้ เพราะนายไพบูลย์ไม่ได้เป็น 1 ใน 150 ของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. เพราะที่สำคัญคือการคำนวณใหม่จะต้องยึดตาม มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญต้องทำใหม่ทั้งหมด เพราะ(5) ของมาตราดังกล่าว กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้รับการเป็น ส.ส.ตามลำดับ แม้ว่าในการคำนวณ กกต.จะเอาคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปมาร่วมคำนวณด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 91 ขาดเพียง (5) ที่นายไพบูลย์ ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนปฏิรูปแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายก้องภพเห็นว่าการจะย้ายพรรคของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะยังคงสภาพการเป็น ส.ส. ควรย้ายหลังการเลือกตั้งครบ 1 ปี คือ ผ่านพ้นข้อกฎหมายที่กำหนดว่าให้มีการคำนวณบัญชีรายชื่อผ่านพ้นไปแล้ว คือเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563
ด้านนายไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า เป็นสิทธิของผู้ร้องที่สามารถร้องได้ แต่คิดว่าเป็นการร้องตามความเข้าใจผิด ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมั่นใจว่าจะไม่มีผลใดๆ ตามมาอย่างแน่นอน เพราะตนได้ตรวจสอบข้อกฎหมายมาอย่างดีแล้ว เชื่อว่าไม่มีผลอะไร