กลุ่มกรีนพีซนำคณะยื่นหนังสือรัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ชง 5 แนวทางแก้ระยะยาว ออกกฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานปล่อย PM 2.5
วันนี้ (23 ม.ค.) เวลา 08.30 น. ที่ด้านข้างวัดเบญจมบพิตรฯ กลุ่มกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone และ Climate Strike Thailand นำโดยนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย รวมตัวกัน เพื่อเชิญชวนร่วมกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากวิกฤตฝุ่น PM 2.5 โดยดำเนินมาตรการที่สอดคล้อง มีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมถึงการยกระดับมาตรฐาน PM 2.5 ให้เข้มงวด ตลอดจนการปฏิรูปนโยบายสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายทำเนียบการเคลื่อนย้ายและปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จากนั้นเวลา 10.25 น. ตัวแทนกลุ่มฯ ยื่นหนังสือผ่านนายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี
โดยนายธารากล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเห็นชอบให้ยกระดับในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อ แต่มาตรการดังกล่าวขาดเป้าหมายที่ชัดเจน และมาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว ขณะเดียวกันรัฐไม่มีฐานข้อมูลจากฐานศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจนกว่าจะมีการแก้ไขนั้น ไม่มีฐานข้อมูลรองรับว่าจะตรวจสอบโรงงานประเภทใด จะลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ปริมาณเท่าใด และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของรัฐได้อย่างไร
โดยนายธารากล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานนั้น จะไม่เกิดขึ้นได้เลยหากไร้ซึ่งแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แท้จริง เช่น การลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบหรือใช้รถขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเน้นมาตรการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลักทั้งจากโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือกระทั่งรถยนต์ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลประกาศให้ลดการเผาจำเป็นจะต้องทำอย่างเข้มงวด และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน
“ทางออกของวิกฤตนี้ นอกจากการรับมือเฉพาะหน้าแล้ว รัฐบาลต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว และเครื่องมือที่สำคัญคือการออกกำกฎหมาย เช่น 1. กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อย PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก ทั้งจากโรงไฟฟ้า โรงานอุตสาหกรรม เป็นต้น 2. การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลทิษ 3. กฎหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 4. กฎหมายกำหนด ระยะแนวกันชนระหว่างแหล่งกำนิดมลพิษกับชุมชน 5. การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เช่น มาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ” โดยนายธารากล่าว