“มาดามเดียร์” เผย กมธ.การเงินการคลังฯ เตรียมตั้ง อนุ กมธ.ศึกษาการนำข้อมูล Big Data มาใช้ในการอนุมัติสินเชื่ออย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
วันนี้ (17 ม.ค.) น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี” ระบุว่า “เดียร์ได้มีโอกาสไปพบผู้ว่าการแบงก์ชาติ คุณวิรไท สันติประภพ ในฐานะกรรมาธิการการเงิน การคลัง ในการประชุมผู้บริหารแบงก์ชาติได้นำเสนอถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และข้อมูลสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหลายอย่าง ซึ่งเดียร์จะขอยกประเด็นหลักๆ ที่คิดว่าน่าสนใจมาร่วมแชร์ค่ะ
#บาทแข็ง ดอกเบี้ยต่ำ วิกฤตเศรษฐกิจแต่โอกาสทองในการลงทุนของประเทศ สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศเกินดุล วันนี้เงินในระบบของประเทศนั้นมีจำนวนมากแต่น่าเสียดายที่เงินเหล่านี้ไม่สามารถลงไปถึงเศรษฐกิจฐานราก แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
ท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกว่านี่คือ “โอกาสทองของการลงทุน” เดียร์มองว่าสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเป็นผู้ถือธงนำการลงทุนของประเทศ และถ้าหากรัฐจะต้องเลือกลงทุนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเดียร์อยากเห็นรัฐเลือกลงทุน “เรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำ” ทุกครั้งที่เดียร์ได้มีโอกาสลงพื้นที่ในต่างจังหวัดไม่ว่าจะไปในภูมิภาคใด จะเห็นว่าปัญหาหลักของเกษตรกรไทยมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน นั่นคือ 1. ที่ดินทำกิน 2. น้ำเพื่อใช้ในการเกษตร 3. หนี้นอกระบบ ซึ่งกว่า 70% ของพื้นที่ประเทศนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปัญหาน้ำจึงกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าหากรัฐสามารถแก้ปัญหาเรี่องน้ำได้สำเร็จไม่เพียงแต่จะให้ประชาชนไม่ลำบากมีน้ำใช้เท่านั้น แต่จะช่วยเรื่องรายได้ของเกษตรกรซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมกัน
#การใช้ BigData เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศได้เริ่มนำร่องจนไปไกลแล้วแต่สำหรับประเทศไทยถือว่าการนำข้อมูล Big Data มาใช้ในการอนุมัติสินเชื่อนั้นยังน้อยมาก ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นเพราะยังมีอุปสรรคในหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ปริมาณและความหลากหลายของข้อมูลที่ต้องเก็บจากพฤติกรรมของผู้บริโภค (life style) ในหลายๆ ส่วน ข้อมูลลูกค้าจากธนาคารพาณิชย์อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ในการคำนวณ credit scoring หากเรามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่สามารถเข้าถึง พร้อมรวบรวม Big Data เพื่อนำข้อมูลมาใช้อย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้ก็คงจะดีไม่น้อย แต่สิ่งสำคัญหลักวันนี้ก็คือ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ที่นับว่าเป็นเรื่องดีที่เรามีการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลประชาชนแล้ว แต่จะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชนได้นั้นยังไม่มีความชัดเจนของกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะรายละเอียดของกฎหมายลูกที่วันนี้ยังไม่มี ก็นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง
ซึ่งหลังจากที่กรรมาธิการได้หารือกับผู้ว่าฯ ก็ได้มีความเห็นว่าเรามีแนวทางจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อมาศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยตรงค่ะ”