xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับรายงานสิ่งแวดล้อม 62 ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 6 แสนตัน ขยะพลาสติกชุมชน 2.0 ล้านตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาลเผย ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปี 62 พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 638,000 ตันจากปี 60 ขณะที่ขยะพลาสติกชุมชน 2.0 ล้านตัน รีไซเคิลแล้ว 0.5 ล้านตัน

วันนี้ (14 ม.ค.) เวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ โดยทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ด้านพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น มีการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ป่า 36 ชนิด เพื่อเพิ่มประชากรสัตว์ป่าและช่วยรักษาระบบนิเวศ ด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน พื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มลดลงจาก พ.ศ. 2559 แต่ยังคงพบขยะพลาสติกในขยะทะเล และสถานการณ์มลพิษ คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นและเขตอุตสาหกรรม ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น และปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น

นางนฤมลกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2561 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีค่าเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนขยะพลาสติก ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2561 มีจำนวน 27.93 ล้านตัน พบพลาสติกในขยะชุมชนประมาณ 2.0 ล้านตัน สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลประมาณ 0.5 ล้านตัน (ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก) ส่วนที่เหลือจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 1.5 ล้านตัน ซึ่งมีเป้าหมายการลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางนฤมลกล่าวอีกว่า สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนทีเกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2561 มีประมาณ 638,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 ร้อยละ 3.2 โดยส่วนประกอบของของเสียอันตรายร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และร้อยละ 35 เป็นของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการออกกฎหมายแล้ว ขณะที่การกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่ง ใน พ.ศ. 2560 ประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร มีพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประมาณ 704.44 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว 558.71 กิโลเมตร และพื้นที่กัดเซาะที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไข 145.73 กิโลเมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น