ฝ่ายค้านสลับหน้าถล่มงบกลาง เสนอตัดงบฉุกเฉิน 9.6 หมื่นล้าน ย้ำตั้งเกินความจำเป็น งบชดเชยสิ่งก่อสร้างสูงเกินจริง กังวลนำไปซื้ออาวุธ จ่ายค่าเสียหายเหมืองทองอัครา จี้ปรับลดเกือบครึ่งเพราะเหลือเวลาในปีงบประมาณเพียง 6 เดือน
วันนี้ (8 ม.ค.) การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 มาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 518,770 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มีการสงวนคำแปรญัตติเกี่ยวกับเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท เริ่มที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายขอให้ปรับลดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากที่ตั้งไว้ 96,000 ล้านบาท ปรับลด 56,000 ล้านบาท เนื่องจากควรใช้งบประมาณตามที่จำเป็น เพราะระยะเวลาปีงบประมาณ 2563 เหลืออยู่อีกไม่กี่เดือน
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายขอตัดงบกลาง 20,000 ล้านบาท โดยกังวลว่าจะมีการใช้งบประมาณผิดประเภทไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออาจจะนำไปจ่ายค่าเสียหายกรณีปิดเหมืองทองอัครา อีกทั้งยังมีงบสำรองอีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งสำรองไว้นอกงบประมาณตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 ไว้อยู่แล้ว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอปรับลดงบกลางในส่วนเงินค่าชดเชยสิ่งก่อสร้างจาก 500 ล้านบาท ปรับลดลง 200 ล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาตั้งแต่ปี 2561 ใช้งบส่วนนี้ไม่เกิน 300 ล้านบาทอยู่แล้ว และเสนอปรับลดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท ปรับลด 30,000 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 66,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินงบประมาณส่วนนี้ใช้เฉพาะกรณีป้องกันหรือแก้ไขในสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือชดเชยบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเหลือเวลาปีงบประมาณ 2563 มีเพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 96,000 ล้านบาท
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายเสนอปรับลดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท ให้ลดลงอีกร้อยละ 15 เนื่องจากรัฐบาลสำรองไว้เกินความจำเป็น พฤติกรรมการใช้เงินของรัฐบาลมีความน่าสงสัย ใช้เงินไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น และมองว่าเงินสำรองจ่ายตั้งเกินกว่าความจำเป็นถึงร้อยละ 69 แล้วยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 50,000 ล้านบาท ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน ก็นำไปใช้กับมาตรการแจกเงินอย่างโครงการชิมช้อปใช้ ที่กระตุ้นการใช้จ่ายจาก G-Wallet ได้เพียง 1,548 ล้านบาท จากเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท , ใช้งบประมาณ 573 ล้านบาท ซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว 849 เครื่อง เครื่องละ 685,000 บาท แผนที่ราคาตลาดอยู่เครื่องละ 130,000 บาท และใช้งบ 2,860 ล้านบาท ซื้อรถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER มือสอง 37 คัน คันละ 80 ล้านบาท ทั้งที่ราคาตลาดอยู่ประมาณ 47 ล้านบาทเท่านั้น
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายงบกลาง 518,770 ล้านบาท โดยเสนอปรับลดร้อยละ 10 โดยชี้ว่าการพิจารณาวางงบประมาณเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าประชาชน และการใช้กรณีประสบภัยธรรมชาติก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประสบภัยทุกราย และไม่ปรากฏงบประมาณประกันรายได้เกษตรกรในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย โดยเสนอขอให้ตั้งงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง