xs
xsm
sm
md
lg

สปน.ตั้งงบฯ 63 กว่า 18.5 ล้าน บำรุงรักษา/บริหารจัดการ “ศูนย์ร้องทุกข์ 1111” พบ 5 ปีจ่ายดูแลระบบกว่า 100 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปน.ตั้งงบฯ 63 กว่า 18.5 ล้าน บำรุงรักษา/บริหารจัดการ ศูนย์เรื่องร้องทุกข์ 1111 พบ 5 ปีจ่ายเอกชนดูแลระบบแล้วกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างบริหารและดูแลระบบ ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์

วันนี้ (8 ม.ค) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เปิดเผยราคากลางและการคำนวณราคากลาง โครงการจ้างบำรุงรักษาระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ และบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ผ่านช่องทาง 1111 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

โดยตั้งงบประมาณดังกล่าวไว้ที่ 18,500,000 บาท ประกอบด้วย ค่าบริการ Co-Location วงเงิน 1,440,000 บาท ค่าจ้างบริหารและดูแลระบบ 2,293,200 บาท ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ 6,396,800 บาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ 7,870,000 บาท

“อย่างไรก็ตาม พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 สปน.ได้ว่าจ้างบริษัท ทีโอที จำกัด บำรุงรักษาระบบการจัดการ เรื่องราวร้องทุกข์และบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ วงเงินปีละ 17-18 ล้านบาทเศษ โดยตลอด 5 ปี ใช้งบประมาณบริหารแล้วกว่า 100 ล้านบาท”

ทั้งนี้ รัฐบาลเปิดช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ 5 ช่องทาง คือ สายด่วนหมายเลข 1111 กด 2, ตู้ ปณ.1111 โดยไม่ต้องติดแสตมป์, www.1111.go.ch, โมบายแอปพลิเคชัน PSC 1111 และสามารถเดินทางมาด้วยตนเอง ที่จุดบริการประชาชน 1111 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชั้น 1 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กทม.

ปีที่ผ่านมา 2562 สปน.แจ้งคณะรัฐมนตรีว่า มีประชาชนรายย่อยมาใช้บริการ 80,075 ราย แบ่งเป็นมายื่นเรื่องที่จุดบริการประชาชน 1111 จำนวน 2,037 ราย และกลุ่มมวลชน 244 กลุ่ม โดยทั้งหมด 80,319 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 72,899 เรื่อง

เมื่อวานนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพิ่งเวียนหนังสือถึงหน่วยราชการเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ทั้งในส่วนของศูนย์บริการประชาชน, ศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศูนย์ดิจิทัลชุมชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการข้อมูลทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น