xs
xsm
sm
md
lg

พม.รายงานผู้สูงอายุเฉลี่ย 77 ปี ประชากรวัยทำงานลดลง แนะอยู่ในประกันสังคม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล แถลงครม.รับทราบ พม. รายงาน สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยเฉลี่ยอายุ 77 ปี ประชากรวัยทำงานลดลง แนะ ให้อยู่ในระบบประกันสังคม

วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่า ครม.รับทราบสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ และพิจิตร จังหวัดที่มีอัตราผู้สูงอายุต่ำที่สุด 3 อันดับสุดท้ายคือ ภูเก็ต ชลบุรี และสมุทรสาคร ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยอยู่ที่ 77 ปี และมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.5 คน ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อประชากรวัยเด็กลดลง นำไปสู่ความจำเป็นต้องยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ประชากรวัยทำงานที่ลดลงทำให้ต้องขยายอายุการทำงาน นำเข้าแรงงานบางประเภท การใช้เทคโนโลยีทดแทน และต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการจัดระบบสวัสดิการและการประกันสังคมแก่ผู้สูงอายุ การบริการทางด้านสุขอนามัย และการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับปี2561 รัฐบาลได้จ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุจำนวน 8.38ล้านคน เป็นเงินงบประมาณ 66,000 ล้านบาท และดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สิ้นเดือนธันวาคม มีผู้บริจาค811ราย เป็นจำนวนเงิน 2.8ล้านบาท เงินบริจาคนำเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ในจำนวนประชากรสูงอายุ 11.7ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ประมาณ 1ใน 3 หรือประมาณ 4.36ล้านคน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่า โดยในภาพรวมเป็นการทำงานนอกระบบร้อยละ 88.2 ซึ่งเท่ากับเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

ซึ่งข้อเสนอแนะจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกอบด้วย (1)เสริมทักษะหรือเพิ่มทักษะใหม่ให้กับแรงงานสูงอายุภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (2)สร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุ ด้วยการออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขตามวัยของแรงงาน(3)สร้างแรงจูงใจและขยายสิทธิประโยชน์ให้กับนายจ้างที่จ้างแรงงานสูงอายุ (4)ขยายอายุในการเริ่มรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้ยาวนานกว่าที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ในกรณีของแรงงานภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม(5)หามาตรการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพ (6)เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรมเพื่อสังคม(Corporate Social Responsibility : CSR) ของภาคเอกชนในการส่งเสริมสร้างงานแก่ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ (7)ปรับแก้กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ รวมทั้งขยายอายุเกษียณของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (8)สร้างมโนทัศใหม่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อให้สังคมเห็นว่าผู้สูงอายุมีพลังและมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงานทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กองทุนการออมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯเสนอ


กำลังโหลดความคิดเห็น