xs
xsm
sm
md
lg

มติสภาตั้ง กมธ.สอบสร้างรัฐสภาช้า ฝ่ายค้านปูดปมเดินท่อร้อยสาย ส่อต่อสัญญารอบ 5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.สภาฯ ขอบคุณ ส.ส.ร่วมใจพิจารณาญัตติ ก่อนมีมติเห็นชอบตั้ง กมธ.สอบสร้างรัฐสภาใหม่ล่าช้า ฝ่ายค้านชี้ต้องตรวจสอบบ้านตัวเอง เหตุมีกลิ่นตุหลังขยายเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้ง แฉสภายังหาผู้รับจ้างเดินท่อร้อยสายไม่ได้ ส่อต่อสัญญาครั้งที่ 5

วันนี้ (20 ธ.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ​ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณา นายชวนกล่าวกับที่ประชุม ว่าญัตติทั่วไปที่ค้างในระเบียบวาระ จำนวน 112 เรื่อง และมีกระทู้ด่วนจำนวน 6 ญัตติ ทั้งนี้ถือเป็นผลงานร่วมกันของ ส.ส.ที่ไม่ปรากฏบ่อยในระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ไม่ว่าสภาฯ จะมีภาพบวกหรือลบ ตนขอขอบคุณ ส.ส.ที่ร่วมใจทำงาน พิจารณาให้ผ่านไปด้วยดี และประชาชนได้รับประโยชน์

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจาณาญัตติทั่วไป กลุ่มว่าด้วย ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้เสนอญัตติเรื่องแรก อภิปรายว่า สภาฯ ต้องตรวจสอบบ้านของตนเอง เพราะถูกสังคมตั้งคำถามว่าการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท สัญญาหลัก 900 วัน ที่ต้องแล้วเสร็จ 24 พฤศจิกายน 2558 นั้นมีเหตุผลที่ทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและต้องต่อสัญญาไปอีก 4 ครั้ง ทำให้รวมเวลาก่อสร้างอาคารทั้งหมดกว่า 2,000 วัน ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลที่ขยายสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนั้นเพราะการแก้ไขแบบ ทั้งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถแก้ไขแบบได้โดยใช้เวลาไม่นาน เป็นเพราะมีเจตนาทำให้แบบมีปัญหาหรือไม่ เพื่อเป็นข้ออ้างให้ผู้ว่าจ้างขยายสัญญาผู้รับจ้างโดยไม่ผิดกฎหมาย

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย อภิปรายฐานะผู้เสนอญัตติเรื่องที่สองซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน ว่าความพยายามขยายสัญญาก่อสร้างรอบที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 - 31 ธ้นวาคม 2563 พบปัญหาสำคัญ คือ ผู้ปฏิบัติงานในรัฐสภา ไม่ทราบและไม่แจ้งเหตุผลว่างานสร้างไม่แล้วเสร็จเพราะอะไร แต่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ระบุว่าเป็นความผิดของทางราชการ ทำให้ต้องขยายเวลาให้เอกชน ขณะเดียวกันพบข้อร้องเรียนจากอดีต ส.ส. ตนจึงสงสัยว่าเป็นเพราะผู้ว่าจ้างหรือผู้รบจ้าง อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของการก่อสร้าง ล่าสุดอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามแผนงานต้องแล้วเสร็จ 95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่งานอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่ค้างอยู่พบว่ามีงานอีกหลายอย่าง เช่น ระบบปรับอากาศ, งานระบบสารสนเทศ, สถานีไฟฟ้า, สัญญาณไฟลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นงานจุกติกที่อาจทำให้งานก่อสร้างหลักเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นต้องตรวจสอบ

จากนั้นเป็นการอภิปรายของ ส.ส.​โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อตรวจสอบ โดยนายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายตนในฐานะ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ควบคุมงาน บริษัทที่ปรึกษาให้รายละเอียด พบว่าไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นปัญหาเรื่องดินในพื้นที่และสถานที่นำดินไปทิ้งรวมถึงการขายดิน มูลค่าของดิน นอกจากนั้น จากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับสถาปนิกและวิศวกรในพื้นที่ห้องประชุม และห้อง กมธ.ทราบว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการต่อสัญญาครั้งที่ 4 ที่สัญญาจะสิ้นสุด ‪31 ธันวาคม 2563‬ นั้น เชื่อว่าอาจมีการต่อสัญญารอบที่ 5 เพราะมีสัญญาด้านระบบสาธารณูปโภค ที่จะสิ้นสุดสัญญา ‪5 มีนาคม 2563‬ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าประเด็นที่เกิดขึ้นสภาฯ เสียประโยชน์เพราะต้องเช่าพื้นที่ภายนอก เพิ่มค่าเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนบุคคลที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้รับจ้าง ทั้งนี้การตรวจสอบภายใต้อำนาจของ กมธ.กิจการสภาฯ ไม่สามารถเอาอยู่ ดังนั้นต้องให้ทั้งสภาฯ ช่วยตรวจสอบ

ขณะที่นายไกรก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่าสำหรับปัญหาที่ทำให้สภาฯ ต้องต่อสัญญางานก่อสร้างออกไป ถึง ครั้งที่ 4 จากการติดตามงานที่ผ่านมา พบว่าการขยายสัญญารอบที่ 1 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 - 11 ธันวาคม 2559 รวม‪เวลา 387 วัน‬ งานคืบหน้า 30 เปอร์เซ็นต์, รอบที่2 วันที่ 16 ธันวาคม 2559 - 9 กุมภาพันธ์ 2561 รวม‪เวลา 421 วัน‬ งานคืบหน้า 45 เปอร์เซ็นต์, รอบที่ 3 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 - 15 ธันวาคม 2562 งานคืบหน้า 75 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ระยะที่ต่อสัญญาครั้งที่ 2 ความคืบหน้างานเพิ่มเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยปัญหาสำคัญคือการส่งมอบพื้นที่และการขนย้ายดิน แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พื้นที่ก่อสร้างอาคารหลัก ส่งมอบแล้วเสร็จ 11 พฤศจิกายน แต่มีปัญหาที่ไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลาและล่าช้าที่สุด เพียงพื้นที่ 1 งาน ส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานก่อสร้างหลัก ขณะที่การขนย้ายดินแล้วเสร็จ วันที่ 21 มกราคม 2559 ซึ่งช่วงที่มีปัญหานั้นอยู่ภายใต้การกำกับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นต้องตรวจสอบการกำกับและความจริงใจในยุคดังกล่าว

นายไกรก้องอภิปรายด้วยว่า การขยายสัญญารอบที่ 4 ช่วง วันที่ ‪16 ธันวาคม 2562 - 31 ธันวาคม 2563‬ นั้นมีเหตุสำคัญ คือ งานนอกระบบสัญญา จากการตรวจสอบพบงานระบบสารสนเทศ หรือไอซีที ที่มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท ที่มีรายละเอียดงาน 10 ระบบ อาทิ ศูนย์รับส่งสัญญาณดาวเทียม, ไอทีทีวี, ศูนย์คอมพิวเตอร์หลัก, ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์, ระบบห้องเครื่องเสียง, ภาพ, ระบบการลงคะแนนในประชุมวุฒิสภา, ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร, การพัฒนาระบบแอปพลิเคชันการประชุม เป็นต้น โดยล่าสุดมีความคืบหน้าเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามแผนต้องแล้วเสร็จ 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นในงานระบบเน็ตเวิร์กที่มีรายการสำคัญ คือ ท่อร้อยสาย ล่าสุดพบว่าสภายังไม่สามารถหาผู้รับจ้างเดินท่อร้อยสายได้ เชื่อว่าเหตุและปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดการต่อสัญญาครั้งที่ 5 ได้

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่าขอให้ กมธ.ศึกษาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สภา เสียค่าโง่ เพราะตนมั่นใจว่าการก่อสร้างที่ขยายสัญญารอบที่ 4 จะไม่แล้วเสร็จ และต้องต่อสัญญาครั้งที่ 5 ปัจจัยสำคัญ คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น สิ่งที่ กมธ.ต้องพิจารณา เพื่ออุดช่องโหว่ที่นำไปสู่การเสียค่าโง่ คล้ายกับคดีคลองด่าน ที่ปี 2549 ไม่มีประเด็นที่จะทำให้เสียค่าโง่ แต่หลังจากนั้นพบการขยายสัญญาและต่อสัญญา พบเงินทอนหมื่นล้านบาท ซึ่งตนไม่อยากให้สภาต้องเสียค่าโง่ ทั้งนี้ ปัญหาที่อาจทำให้ต้องต่อสัญญารอบต่อไป คือ การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ก่อนรับมอบงาน ทำให้มีงานที่ต้องซ่อมแซมและอาจถูกเรียกค่าเสียหาย ที่สภาต้องเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายในปี 63-64

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติโดยมติข้างมาก 354 เสียงเห็นด้วย และงดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ ให้กรอบเวลาพิจารณาภายใน 60 วัน ทั้งนี้ นายชวนแจ้งให้ทราบด้วยว่า ตนให้เลขาธิการสภาฯ ศึกษากระบวนการใช้พื้นที่อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องเตรียมการไว้ในอนาคตด้วย

























กำลังโหลดความคิดเห็น