ส.ว.ตั้งกระทู้ถาม “พุทธิพงษ์” ตั้งศูนย์ข่าวปลอม ยืนยันไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาเว็บไซต์ไม่เหมาะสมเยาวชน-พนันออนไลน์
วันนี้ (2 ธ.ค.) การประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุมได้พิจารณากระทู้ถาม เรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์
นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.ในฐานะผู้ตั้งกระทู้ถาม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นจำนวนมาก มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหา การตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แม้จะเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ภาครัฐควรมีมาตรการในการดำเนินคดีและระงับการแพร่กระจายข่าวปลอม จึงขอถามว่ากระทรวงดิจิทัลฯ มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างไร
นายจเด็จกล่าวว่า ขณะเดียวกัน มีตัวเลขมาจาก กสทช.ระบุว่า ภูมิทัศน์สื่อสารของประชาชนมีระบบออนไลน์ครอบคลุมเพิ่มขึ้นกว่า 90% และมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยกว่าล้านเลขหมายและการใช้งานเชื่อมต่อข้อมูลต่อบุคคลมากถึง 2.45 กิกะไบต์ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งการรณรงค์จากหน่วยงานภาครัฐเพื่อเตือนภัยให้กับประชาชนยังมีไม่มากนัก
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงถึงการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องและต่อต้านข่าวที่ไม่เหมาะสมกับรัฐบาล โดยยืนยันว่า โครงสร้างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม ทั้งภาคประชาสังคม สื่อมวลชน มีการแบ่งประเภทข่าวออกเป็น 4 กลุ่มชัดเจนได้แก่ กลุ่มภัยพิบัติ, กลุ่มเศรษฐกิจ, กลุ่มสุขภัณฑ์ วัตถุอันตราย และ กลุ่มนโยบายรัฐบาลที่ถูกบิดเบือน โดยการทำงานมีช่องทางให้ประชาชนรายงานเข้ามา รวมถึงใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ตรวจสอบข่าวที่มีการแชร์หรือพูดถึงในโซเชียลมีเดีย โดยพบ 5 แสนกว่าข้อความที่มีความเสี่ยงข่าวปลอม รวมถึงใช้เจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบ ทั้งเจ้าหน้าที่ของศูนย์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอม เพื่อตรวจสอบและชี้แจงภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากพบข่าวปลอมเผยแพร่ในระบบ เพื่อป้องกันการแชร์ข้อมูลข่าวเท็จ โดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลอายุมากกว่า 60 ปี ที่แชร์ข่าวเท็จมากที่สุด
สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า ตำรวจ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เป็นส่วนที่แยกจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมอย่างชัดเจน เมื่อมีข้อมูลว่ามีผู้กระทำผิด ทีมที่บังคับใช้กฎหมายก็จะดำเนินการ ส่วนการจดทะเบียนบัญชีออนไลน์และซิมการ์ดก็จะต้องลงทะเบียนให้รัดกุมมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคง พร้อมระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนจากต่างประเทศซึ่งไม่สามารถปิดได้ รวมถึงเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้