xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส เผยผลมอนิเตอร์เฟคนิวส์ แจ้งเรื่องสุขภาพสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส เดินหน้าเวิร์คช้อปบทบาทศูนย์ต่อด้านเฟคนิวส์ หวังรับมือลดจำนวนข่าวปลอม ชี้ ผลมอนิเตอร์ล่าสุด พบข่าวเกี่ยวกับสุขภาพครองอันดับหนึ่งเรื่องเฟคนิวส์

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อซักซ้อมความเข้าใจร่วมกันในกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกัน และบทบาทของผู้ประสานศูนย์ฯตลอดจนการเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องตรวจสอบแล้ว และมีการฝึกปฏิบัติในการจัดการข่าวปลอม พร้อมทั้งวิธีการประสาน ตรวจสอบ และการแจ้งผ่านเครื่องมือของศูนย์ฯ บูรณาการการทำงานร่วมกันให้ได้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด

เป้าหมายหลักคือ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีช่องทางเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ป้องกันการแชร์เนื้อหาข่าวที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนสามารถรู้เท่าทันข่าวปลอม

กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมพิจารณาจัดทำเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวก ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ Anti-Fake News Center มีการทำงานในลักษณะทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ตามมาตรฐานสากลของ International Fact Checking Network หรือ IFCN วิธีการแจ้งก็จะแบ่งหมวดการแจ้งตาม 4 กลุ่มหลักตามที่กล่าวข้างต้น ศูนย์ทำหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วแจ้งผลการตรวจสอบกลับมา ประชาชนจะสามารถตรวจเช็คข่าวปลอมได้ทันที

ผลการมอนิเตอร์การดำเนินงานล่าสุดเมื่อ 19 พ.ย. 2562 พบว่า มีจำนวนข้อความที่ส่งเข้ามาทั้งหมด 482,077 ข้อความเป็นข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด จำนวน 353,325 ข้อความ ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมดจำนวน 5,181 ข้อความ แบ่งเป็น ช่องทาง Social Listening Tool ช่องทาง LINE Official และมาจากการแจ้งเรื่องเข้ามาโดยตรงด้วย สำหรับเรื่องที่แจ้งเข้ามา ประกอบด้วย เรื่องสุขภาพ 63.2 % ภัยพิบัติ 0.8 % เศรษฐกิจ 14.2 % นโยบายรัฐบาล 21.8 %

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีสถิติรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาดำเนินคดีตามกฎหมายและเร่งรัดดำเนินคดีการตามมาตรการป้องกันและปราบปราม ในห้วงที่ผ่านมามีสถิติการจับกุมระหว่างเดือนก.ค. – เดือนก.ย. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 7 ราย ดังนี้ เดือนก.ค. 6 ราย เดือนส.ค. 6 ราย และเดือนก.ย. 1 ราย ล่าสุดคือผู้ต้องหาแฮก Facebook หลอกยืมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรูปแบบการกระทำความผิด (แผนประทุษกรรม) ที่ซับซ้อน โดยหลอกลวงรับสมัครงานในโลกออนไลน์เพื่อเอาบัญชีผู้อื่นที่มาสมัครงานเป็นบัญชีผู้รับโอนเงินจากเหยื่อ มูลค่าความเสียหาย กว่า 34 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น