กระทรวงดีอีเอส เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จับมือ ศปอส.ตร.สร้างกระแสรู้ทันข่าวลวง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส ได้เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) อย่างเป็นทางการ โดยจะเน้นตรวจสอบข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชน กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน คาดหวังให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการเผยแพร่ต่ออย่างรู้เท่าทันสื่อ และเป็นโอกาสดีที่มีการเปิดตัวศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) ซึ่งเป็นความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงดีอีเอส กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกำจัดข่าวปลอม เน้นว่าเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และจะมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง เพื่อประชาชนทุกคนให้เข้าใจ และรู้เท่าทันว่าข่าวไหนปลอมข่าวไหนจริง ทั้งนี้ จะใช้กลไกการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ที่จะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ สื่อมวลชน ทำหน้าที่ วางแผน กำกับ การดำเนินงาน และแผนการเผยแพร่ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ข่าวที่เป็นกระแสโซเชียลอย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างนั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง ผ่านหน่วยงานที่เข้าร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมกว่า 200 หน่วยงาน ที่ต้องอบรมให้ความรู้ร่วมกันวันที่ 14 พ.ย.2562
ข่าวที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง ถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ข่าวกลุ่มภัยพิบัติ เศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และนโยบายรัฐบาล โดยมีหลักเกณฑ์การทำงาน อาทิ ไม่อคติในการคัดเลือกข่าว ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว การขัดกันด้านผลประโยชน์ อธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริง มีความรู้เกี่ยวกับข่าวให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส และสุดท้าย และเป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กร เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะมีหน้าที่หลักคอยติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง จัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ และข้อสำคัญขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน และสาธารณชน จะผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน อาทิ เช่น สำนักข่าวไทย สมาคมนักข่าว หรือสื่อหน่วยงานอื่นๆ เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ สร้างจิตสำนึกรอบรู้เท่าทันเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องตนเองจากปัญหาข่าวปลอม ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือระบบตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพ
กระทรวงได้เปิดช่องทางหลักให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งข่าวเข้าตรวจสอบ อาทิ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com, line @antifakenewscenter.com, Twitter @AFNCTHAILAND โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยืนยันว่า การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมดังกล่าว ไม่มีเจตนาสนับสนุนรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างแน่นอน