ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แจงชัดกฎเหล็กไม่ล้วงลูกกมธ. ชี้สมัย "ปู่ชัย" เคยมีกฎนี้มาแล้ว อ้างลดความซ้ำซ้อน สวนกลับ "จิรายุ" บิดเบือน ยันถกนัดพิเศษ 22 พ.ย.ไม่มีตั้งกมธ.แก้รธน.
วันนี้ (19 พ.ย.) นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกระเบียบสภาฯด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562
นพ.สุกิจ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการการออกระเบียบดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯพ.ศ.2562 ข้อ 90 วรรคสี่และวรรคหกที่กำหนดให้ประธานสภาฯออกระเบียบดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามข้อบ้งคับการประชุมสภาฯที่ว่าด้วยการให้คณะกรรมาธิการสามัญต้องรายงานเรื่องใดๆให้ประธานสภาทราบ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาฯมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมสภาฯ ดังนั้น ระเบียบที่ออกมาจึงไม่ได้เป็นเรื่องการใช้อำนาจของประธานสภาฯโดยตรงแต่อย่างใด เพราะเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ การที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาลองค์กรอิสระองค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การ มหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาพูดกล่าวหาประธานสภาฯ จึงเป็นการอ่านข้อบังคับการประชุมสภาฯไม่ครบและไม่รู้ข้อเท็จจริง
"ระเบียบดังกล่าวประธานสภาฯไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง แต่ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ร่างระเบียบดังกล่าวออกมา และไม่ได้เป็นการใช้อำนาจประธานสภาฯในการแทรกแซงแต่อย่างใด อีกทั้งระเบียบลักษณะนี้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2552 สมัยท่านชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาฯ การรายงานเช่นนี้จะมีประโยชน์ คือ การทำให้ประธานสภาฯได้ทราบว่ามีคณะกรรมาธิการไหนทำงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่" นพ.สุกิจ กล่าว
สำหรับกรณีที่นายจิรายุ คัดค้านการประชุมสภาฯในวันที่ 22 พ.ย. เพราะมองว่าเป็นการหลอกให้กรรมาธิการมารายงานเรื่องที่จะทำต่อสภาฯ นพ.สุกิจ กล่าวว่า การที่นายจิรายุกล่าวหาเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการประชุมสภาฯวันที่ 22 พ.ย.เป็นการพิจารณาญัตติที่ค้างการพิจารณาเท่านั้น หากไม่มีการประชุมนัดพิเศษในวันที่ 22 พ.ย.จะทำให้ญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาเลย
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การทำงานของสภาฯเวลานี้เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ระเบียบที่ประธานสภาฯออกมานั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. โดยขณะนี้มีคณะกรรมาธิการบางคณะได้รายงานประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเข้าไปให้ประธานสภาทราบบ้างแล้ว
"วันนี้สภาฯและสังคมต้องการคนที่ดีไปบริหารบ้านเมือง ประธานสภาฯตั้งใจทำงานให้กับประชาชน ขอร้องว่าอย่านำเรื่องนี้ไปบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ขอให้คุณจิรายุแสดงความรู้ความสามารถออกมาให้เห็น" นายสมบูรณ์ กล่าว
นพ.สุกิจ ยังกล่าวถึงการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การประชุมสภาฯในวันที่ 20-21พ.ย. มีเรื่องรับทราบจำนวน 5 เรื่อง ดังนั้น การพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทันภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของส.ส.ในเรื่องการรับทราบที่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ 5 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีญัตติด่วน เรื่อง การคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 จากนั้นถึงจะถึงการพิจารณาญัตติการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นพ.สุกิจ กล่าวว่า การประชุมสภาฯนัดพิเศษวันที 22 พ.ย.เป็นเฉพาะการพิจารณาญัตติทั่วไปที่ค้างอยู่เท่านั้น โดยไม่มีการพิจารณาญัตติที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด