xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาสินบนโรลส์-รอยซ์ 10 ราย ไร้ชื่อนักการเมือง ลั่น “ข้าวจีทูจี 2” พร้อม 15 คดีใหญ่จบแน่ปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.
“วรวิทย์” แจงผลงาน 20 ปี ป.ป.ช.เหลือคดีคงค้าง 14,732 คดี ให้สัญญาปี 63 สาง 15 คดีใหญ่แล้วเสร็จ อาทิ ข้าวจีทูจีภาค 2 เงินทอนวัด จีที 200 ทุจริตบริหารจัดการน้ำยุคยิ่งลักษณ์ พร้อมเผยคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 10 ราย ยังไม่มีนักการเมือง

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการไต่สวนคดีทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากผู้นำเข้าเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องบิน Boeing B77-200 ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา 10 ราย จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย โดยผู้ถูกกล่าวหายังไม่มีชื่อนักการเมือง เพราะตามการไต่สวนของ ป.ป.ช. จะดูจากพยานหลักฐานเป็นหลัก หากการไต่สวนในอนาคตพบพยานหลักฐานใหม่ที่เชื่อมโยงถึงนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ก็อาจดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา หลังจากนั้น จะนำคำชี้แจงมาพิจารณาว่าจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562


สำหรับกรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้การยอมรับต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่า มีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินรวมประมาณ 1.2 พันล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ จากนั้นช่วงปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาเบื้องต้น 26 ราย ทั้งฝ่ายการเมือง บอร์ดบริษัท การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวบริษัทการบินไทย

นอกจากนี้ นายวรวิทย์ ได้แถลงผลงานในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ปัจจุบันยังมีเรื่องคงค้าง 14,732 คดี ขอให้คำมั่นสัญญากับประชาชน ว่า มีอย่างน้อย 15 คดีสำคัญที่จะไต่สวนให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 ได้แก่ 1. คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศปี 2556 (สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) 2. คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2557 3. คดีทุจริตในการดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ (ฝายแม้ว) 4. คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ 5. คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2


6. คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ 7. คดีทุจริตเงินทอนวัด มีทั้งหมด 47 สำนวน ยังเหลือต้องดำเนินการไต่สวน 36 สำนวน 8. คดีทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 และ อัลฟา 6 มีทั้งหมด 20 สำนวน ยังเหลือต้องดำเนินการไต่สวนอีก 17 สำนวน 9. คดีทุจริตสร้างนามกีฬาฟุตซอล 10. คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง (คดีรถหรู)

11. คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย 12. คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้ารถยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777-200 ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ 13. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง และในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ 14. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดิน ต.เขากะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขานาเกิด และ 15. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเตียนและป่าเขื่อนลั่น อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา


นายวรวิทย์ กล่าวว่า ใน 15 คดีสำคัญข้างต้น บางคดีดำเนินการไปแล้วกว่า 60% บางคดีคืบหน้าถึง 80-90% ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้สัญญากับประชาชน ว่า ภายในปี 2563 จะทำคดีสำคัญๆ เหล่านี้ รวมถึงคดีอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ และจะมานำเสนอต่อประชาชน โดยในการแถลงข่าวปีถัดๆ ไปจะให้คำสัญญากับประชาชนแบบนี้เช่นกัน

นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช. ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรกช่วงก่อตั้งระหว่างปี 2543-2549 โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ยุคที่สองระหว่างปี 2550-2559 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 และยุคที่สามระหว่างปี 2560-ปัจจุบัน ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยสำนักงาน ป.ป.ช. พัฒนากระบวนการ และระบบในการไต่สวนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยตลอด โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่แก้ไขกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้เข้มข้นขึ้น โดยเน้นตรวจสอบแบบคุณภาพ และตรวจสอบเชิงลึกมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น