xs
xsm
sm
md
lg

“แก้ รธน.” ฝ่ายค้าน-รัฐบาล ร่วมมือ(ชั่วคราว)?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เดอะอ้วน” ภูมิธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก “ลดเงื่อนไข/เลิกแบ่งฝ่าย ร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ” สอดรับกับเพื่อไทยก็ไม่ขัดข้อง กรณีคน ปชป.เสนอ “อภิสิทธิ์” นั่งประธาน กมธ.ศึกษาฯ

ระฆังยกแรกแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) เริ่มขึ้นแล้ว โดยวันนี้ (4 พ.ย.) นายภูมิธรรม เวชยชัย (Phumtham Wechayachai) ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรใหม่หมาด โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ลดเงื่อนไข/เลิกแบ่งฝ่าย ร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

สาระสำคัญระบุว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรจะนำวาระการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณา

วันนี้จึงอาจถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งสมควรที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาลจะยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยร่วมกันทำให้วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวาระสำคัญของชาติ และช่วยกันเร่งสร้างบรรยากาศความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายประชาชนในสังคม มุ่งช่วยกันปลดล็อกหาทางออกให้ประเทศ โดยลดอคติการแบ่งฝักฝ่าย ลดการสร้างเงื่อนไขต่างๆ

เพราะเชื่อว่านับตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทุกฝ่ายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ ล้วนตระหนักดีถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ประกอบกับการที่พรรคร่วมรัฐบาล อย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงท่าทีร่วมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเสนอความเห็นว่าต้องการที่จะให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว

ท่าทีดังกล่าว หากทำได้จริง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีของประเทศ เพราะจะทำให้ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญที่สั่งสมมานาน มีโอกาสคลี่คลาย เพราะทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคีเครือข่าย/องค์กรภาคประชาสังคม/องค์กรวิชาการและนักศึกษา/พรรคการเมืองทั้งฝ่าย 7 พรรคฝ่ายค้านและพรรคในฝ่ายรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มมองเห็นและแสดงท่าทีถึงความร่วมมือในการแสวงหาหนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การมีส่วนร่วมสร้างความร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นประเด็นของฝ่ายค้านหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็นประเด็นร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่จะใส่ใจกับปมปัญหาความขัดแย้งและระดมพลังทางความคิดและปัญญามาแก้ไข ลดอคติ ลดการตั้งป้อมปฏิเสธโดยมองว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจะทำให้ประเทศได้รับการยอมรับ นำไปสู่ความมั่นคงทั้งจากภายในและต่างประเทศ เชื่อมโยงไปถึงการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนที่กำลังวิกฤติในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ (3 พ.ย.) ก็มีการเคลื่อนไหวผ่านสื่อทั้งพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายค้านในเรื่องนี้ เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล โดยนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความพร้อมในการประชุมสภาฯ ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ว่า วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พรรคประชาธิปัตย์จะประชุม ส.ส.ในเวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมการประชุม โดยเฉพาะญัตติด่วน เรื่องการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังเป็นข้อตกลงที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ตอบรับเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายราเมศระบุว่า พรรคยังไม่ได้มีการหารือกัน และนายเทพไท ก็มีสิทธิ์เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ได้ โดยพรรคมีสัดส่วน กมธ.เรื่องนี้ 4 คน

ขณะที่รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ก็ออกมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ว่ามีความเหมาะสม เพราะเป็นนักการเมืองมานานเคยเป็นหัวหน้าและนายกฯมาแล้ว และมีความรอบรู้ทุกด้าน

ด้านพรรคเพื่อไทยแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีโควตา กมธ.มากที่สุดตามจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ก็ไม่ขัดข้องหากนายอภิสิทธิ์จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ฯในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เห็นว่า มีสิทธิในฐานะคนนอกที่สามารถเป็นกรรมาธิการฯได้ พร้อมระบุว่า ถ้ามีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมไม่เหลื่อมล้ำ รวมถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ถ้าเห็นตรงกัน จริงใจตรงกันก็เดินหน้าไปสู่การปลดล็อค มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ ตามที่ได้สัญญาประชาชนไว้

ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ แสดงความคิดเห็นว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนมีความรู้ความสามารถ เป็นอดีตนายกฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หากเข้ามาเป็น กมธ.ศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะอยากให้มีความหลากหลายจากทุกฝ่าย ส่วนจะสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์เป็นประธานกรรมาธิการฯ หรือไม่ ส่วนตัวไม่ขัดข้อง แต่ขึ้นอยู่กับวิปและสภาฯที่ต้องหารือกัน

ที่น่าสนใจดูเหมือนนี่จะเป็นบททดสอบหนึ่งเดียว ในประเด็นร่วมว่า ฝ่ายค้านกับรัฐบาลจะลดเงื่อนไข นำไปสู่ความร่วมมือกันได้หรือไม่ อย่างที่ภูมิธรรมนำเสนอผ่านเฟซบุ๊ก อย่างน้อยก็ชั่วคราว เฉพาะเรื่องที่ภาคประชาชนก็กำลังเคลื่อนไหวเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น