ต้องถามกลับว่า “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เชื่ออย่างที่นำมาอธิบาย “Lawfare” หรือไม่ คดีในมือศาล แล้วมาอยู่ในมือสื่อ บ่มเพาะสถานการณ์ ชี้นำสังคม “ผิดแน่ ผิดแน่ ไม่รอด ไม่รอด โดนแน่”
น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ทวิตเตอร์ ว่า “ผมอยากลองถามให้สังคมฉุกคิดกันดู ว่า คุณเชื่อว่า ธนาธรโดนแน่ ปิยบุตรโดนแน่ #อนาคตใหม่ โดนแน่ คุณเชื่อแบบนั้นเพราะเราทำผิดจริงๆ หรือคุณคิดว่าเราต้องโดน เพียงเพราะผู้มีอำนาจมองว่าพวกนี้เป็นอันตรายต่อเขา ที่ตัดสินไปแล้วว่าโดนแน่ ตัดสินจากเหตุผลชุดไหนกันแน่”
ขณะเดียวกัน นายปิยบุตร ให้สัมภาษณ์แทบลอยด์ ไทยโพสต์ เรื่อง “สมมติ อนค.ถูกยุบพรรค หัวใจของพวกเราก็ยังคงอยู่” โดยกล่าวตอนหนึ่ง เมื่อถูกถามถึงความเชื่อมั่นในคำตัดสินของศาลหรือไม่ คดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ถือหุ้นสื่อ ว่า
“...ผมมองในภาพรวมแบบนี้ว่า มันเป็นกระบวนการที่สอดคล้องต้องกันกับแนวโน้มของโลก ในภาษาอังกฤษเขากำลังนิยมใช้กันคือ Lawfare ที่ล้อมาจากคำว่า Warfare ที่เริ่มต้นมาจากลาตินอเมริกา คือในลาตินอเมริกาคุณเลือกประธานาธิบดีที่เป็นสังคมนิยม ที่จะทำนโยบายช่วยเหลือประชาชน ทางสหรัฐก็จะไม่พอใจ เมื่อก่อนเขาจะใช้วิธีรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นในชิลี บราซิล อาร์เจนตินา โดนแบบนี้หมดคือถูกรัฐประหาร แล้วก็จะส่งคนไปเป็นประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนของฝ่ายสนับสนุน ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนสหรัฐเข้ามาแทน แต่ยุคปัจจุบันโลกไม่ยอมรับ "เอ้ย อะไรยึดอำนาจอีกแล้ว" เขาก็เปลี่ยนจาก Warfare ที่ใช้อาวุธยึดอำนาจมาเป็น Lawfare คือใช้กฎหมาย อันนี้เป็นเทรนด์ของโลก
Lawfare ทำงานโดยมีสองเครื่องมือหลักๆ หนึ่ง Judicialization of Politics คือเอาประเด็นการเมืองให้ไปอยู่ในมือศาล โดยมาในนามของ Rules of Law หลักนิติรัฐ นิติธรรม ศาลต้องมีอำนาจในการตรวจสอบ และไปในนามของ Transparency ความโปร่งใส, Anti-Corruption ต้องตรวจสอบนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน โดยคดีต่างๆ ของนักการเมืองไปอยู่ในมือศาล กับอีกเครื่องมือที่ขับเคลื่อนได้คือ Mediatisation of Politics Judicial Case คือเอาประเด็นการเมืองไปอยู่ในมือศาล แล้วก็เอาประเด็นการเมืองที่อยู่ในศาลไปอยู่ในมือสื่อ หมายถึงสื่อก็จะช่วยกันทำข่าว ชี้นำสังคมไปเรื่อยๆ “ผิดแน่ ผิดแน่ ไม่รอด ไม่รอด โดนแน่” พูดทุกวัน
...เช่น ข้อมูลหนึ่งบรรทัดไปเปิดดูว่าถือหุ้นอะไรไว้บ้าง เรื่องหนึ่งบรรทัด ปั๊ม-ผลิตข่าวได้สองร้อยข่าว มันจะเป็นลักษณะแบบนี้ ซึ่งผมยืนยันว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย แต่มันเป็นแนวโน้มของโลกที่กำลังทำกัน ที่มีการให้ชื่อว่า Lawfare เรื่องที่มีการนำประเด็นที่อยู่ในศาลไปอยู่ในมือสื่อ คือจะให้สื่อนำเสนอทุกวัน จนสังคมเชื่อไปแล้วว่าผิด โดยที่คนซึ่งเสพสื่อไม่ได้ไปดูข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เชื่อไปล่วงหน้าเรียบร้อย แล้วก็ค่อยๆ บ่มสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์นั้นหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งนี้เป็นแนวโน้มของโลกที่นำมาอธิบายให้ทราบกัน...”
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ คำถามที่ “ปิยบุตร” โยนให้สังคมฉุกคิด มีที่มา จากความเชื่อเรื่อง “Lawfare” ใช่หรือไม่ และเชื่อว่า มีขบวนการทำร้าย ทำลาย พวกตัวเองอยู่ใช่หรือไม่
โดยเฉพาะ ที่ถามว่า “คุณเชื่อแบบนั้นเพราะเราทำผิดจริงๆ หรือคุณคิดว่าเราต้องโดน เพียงเพราะผู้มีอำนาจมองว่าพวกนี้เป็นอันตรายต่อเขา ที่ตัดสินไปแล้วว่าโดนแน่ ตัดสินจากเหตุผลชุดไหนกันแน่”
ส่วนคดีต่างๆของ ธนาธร, ปิยบุตร และพรรคอนาคตใหม่ อาจนับจาก 1. คดีถือครองในธุรกิจสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของธนาธร ก่อนลงเลือกตั้ง 2.คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา ธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่
รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติการณ์หลายกรรมหลายวาระ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ด้วยมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย
โดยทั้งสองฝ่าย ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
3. คดีเงินกู้ยืมระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับธนาธรก่อนเลือกตั้ง ประมาณ 192 ล้านบาท ตามที่ธนาธรแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นตอนของ กกต.
ส่วน นายปิยบุตร ถูก พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความ ในข้อหาดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 โดยพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้นัด “ปิยบุตร” พร้อมนำสำนวนความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ยื่นพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญาแล้ว
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 “ปิยบุตร” อ่านแถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่ เรื่อง “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” ในการแถลงข่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยแถลงการณ์มีสาระสำคัญ 4 ข้อ พร้อมสรุปตอนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองว่า “ไม่ได้ช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง แต่กลับทำให้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจถูกตั้งคำถาม จนกลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่งก็มองว่ารัฐบาลเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าองค์กรตุลาการและองค์กรอิสระต้องการทำลายฝ่ายเสียงข้างมาก สภาพการณ์เช่นนี้ นำมาซึ่งการแตกขั้วทางการเมืองจนถึงที่สุด จนสังคมไทยไม่อาจหาฉันทามติได้”
“ปิยบุตร” ทวิตเตอร์ตั้งคำถามกับสังคม คล้ายต้องการอธิบายปรากฏการณ์ “Lawfare” ที่กำลังเกิดขึ้นกับ ธนาธร ตน และพรรคอนาคตใหม่ อย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นหมายถึงถูกสื่อและสังคมตัดสินไปแล้วว่าผิด ก่อนที่ศาลจะตัดสินด้วยซ้ำ
ไม่นับว่า อาจเป็นการโยนความกดดันไปให้ศาล โดยตั้งใจหรือไม่ ก็ตาม ว่าจะตัดสินตามกระแสสื่อและสังคมหรือไม่ด้วย