xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” ติงไพรมารีโหวตทำพรรคไม่เติบโต กกต.รับมีปัญหาแต่ กม.กำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เวทีอภิปรายถกปัญหาไพรมารีโหวต “นิพิฏฐ์” อัดทำพรรคไม่เติบโต ด้านพรรคเล็กชี้ใช้เงินมากพรรคกลายเป็นหนี้ ส่วน กกต.ยอมรับเป็นปัญหาแต่อ้างยังจําเป็นเหตุกฎหมายกำหนด

วันนี้ (31 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของสำนักงาน กกต. ได้มีการจัดอภิปรายเรื่อง “ไพรมารีโหวต กับการเมืองแบบไทยๆ พรรคไหนไป พรรคไหนอยู่” โดยมีนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายทรรศนัย ทีน้ำคำ รองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย โดยมีนายยุทธพร อิสรชัย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

นายนิพิฏฐ์กล่าวยอมรับระบบไพรมารีโหวต พรรคนำมาเลือกหัวหน้าพรรคนั้นทำให้พรรคพัง และเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะกฎหมายนี้เปรียบเป็นการใส่สูทแต่นุ่งโสร่ง ตั้งข้อสังเกตการทำไพรมารีในสาขา ในฐานจำนวนสมาชิก 50 คน ถือว่าน้อยที่จะเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง พร้อมเผยว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำโพลว่าบุคคลใดในพื้นที่ได้รับความนิยมจากประชาชนก่อนทำไพรมารี นี่คือการเมืองยุค 4.0 แต่กฎหมายกลับย้อนยุค สะท้อนถึงการทำไพรมารี กรณีผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชี 150 คน ให้สาขาและตัวแทนจังหวัดโหวตเลือก อาจทำให้บุคคลที่มีชื่อเสียง มีประวัติการทำงานระดับสูงไม่ได้รับเลือกให้อยู่ในลำดับต้นๆ โดยยกตัวอย่างคนภาคใต้จะเลือกคนภาคอีสานหรือไม่ เพราะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับต่างพื้นที่ที่อยู่ พรรคการเมืองไม่ต้องการทำไพรมารีโหวต ส่วนตัวเชื่อว่าหากไม่มีไพรมารีโหวตพรรคการเมืองจะเติบโตได้มากกว่า แต่เมื่อกฎหมายกำหนด แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตาม แม้จะมีข้อจำกัดของกฎหมาย

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ย้ำว่า ระบบไพรมารีมีเป้าหมายต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน แต่การทำอาจไม่ได้ง่าย ทั้งการตั้งสาขา หรือตัวแทนประจำจังหวัด ทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคมีเวลาเตรียมตัวน้อย ยอมรับ กกต.เห็นปัญหาการทำไพรมารีที่มีความยากในการดำเนินการ แต่กฎหมายพรรคการเมืองเรื่องระบบไพรมารีนี้ได้ออกแบบเพื่อให้กลไกของบ้านเมืองดีในการปฏิรูปการเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีอำนาจในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ไม่เพียงออกแบบเพื่อพรรคการเมืองเท่านั้น

“อะไรที่เป็นกฎหมาย กกต.พร้อมสนับสนุนทุกเรื่อง และเชื่อว่าพรรคการเมืองสามารถทำหลักการให้ดีได้ โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งสาขา และตัวแทนประจำจังหวัด” นายแสวงกล่าว

รองเลขาฯ กกต.ยังชี้แจงการจัดการเลือกตั้งซ่อมเขต 5 นครปฐม วันที่ 23 ตุลาคม เพราะเป็นวันหยุดสุดท้ายที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ หากจัดหลังจากนั้นการเลือกตั้งส่อเป็นโมฆะ ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น กกต.ย้ำว่าดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะที่นายทรรศนัย ทีน้ำคำ รองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งคำถามว่าบริบทการเมืองและการเลือกตั้งของไทยควรทำไพรมารีโหวตหรือไม่ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการทำไพรมารีโหวตพรรคต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก บางพรรคการเมืองได้รับผลกระทบเรื่องนี้ จนต้องไปกู้เงินเพื่อที่จะดำเนินการกิจการของพรรคตั้งสาขาและตัวแทนพรรค





กำลังโหลดความคิดเห็น