หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ใช่คนแรกที่ทำ "บลายด์ ทรัสต์" โอนทรัพย์สินไปให้กองทุน ผลพวงรัฐธรรมนูญปี 40 รัฐบาลชวนทำแล้ว 3 คน อภิสิทธิ์ 6 คน ยิ่งลักษณ์ 3 คน ล่าสุดยุคประยุทธ์มี 3 คน รวม "สนธิรัตน์" เลขาฯ พปชร.
วันนี้ (18 มี.ค.) จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวระบุว่า ได้บันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด ในการการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยจะนำหุ้นในบริษัทมหาชน และที่ดินโอนให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน เรียกว่า บลายด์ ทรัสต์ (Blind Trust) หรือการทำให้ตนเองไม่เข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใสและลบข้อเคลือบแคลงใจของสาธารณชน ที่มีนักธุรกิจทำงานการเมืองแล้วเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง เหลือเก็บไว้ในนามส่วนตัวเล็กน้อย คือ บ้าน รถที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยอ้างว่าไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนทำมาก่อน ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : “ธนาธร” แจงยิบโอนหุ้นเข้ากองทุนไม่รู้เห็นอีก โวทำมากกว่า รธน.บอก ส่วนแม่เตรียมขายหุ้นมติชนเร็วๆ นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า กระบวนการบลายด์ ทรัสต์ ของนายธนาธร ยังเป็นไปในลักษณะบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เท่านั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และกระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่ว่าไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนทำมาก่อน ตามที่นายธนาธรกล่าวอ้าง โดย "สำนักข่าวอิศรา" อธิบายว่า รัฐธรรมนูญที่ 2540 มาตรา 209 บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร หรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว
ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า ห้ามรัฐมนตรีและคู่สมรสถือครองหุ้นในบริษัทจำกัดได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของหุ้นจำนวนทั้งหมด ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งประธาน ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จะต้องโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายใน 90 สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบ และเมื่อได้ดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลใดแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (มาตรา 4, มาตรา 5, มาตรา 6) เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อมิได้รัฐมนตรีและคู่สมรสมีส่วนได้เสียในธุรกิจและห้ามรัฐมนตรีผู้นั้นเข้าไปบริหารจัดการได้ใดใดในหุ้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) ได้จึงเป็นที่มาของการให้กองทุนบลายด์ ทรัสต์ เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี
- ตั้งแต่ยุคชวนถึงประยุทธ์ ผ่านการทำ "บลายด์ ทรัสต์" มาแล้ว 15 คน "สนธิรัตน์" ก็เคย
จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นต้นมาจนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 15 คน ที่ให้กองทุนบลายด์ ทรัสต์ เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายชวน 3 คน ได้แก่ นายสาวิตต์ โพธิวิหค อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีต รมว.คลัง และ นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีต รมช.พาณิชย์ ใช้บริการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ เป็นผู้บริหารหุ้นแทน รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตรวจไม่พบ
ส่วนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีจำนวน 6 คน ได้แก่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย, นายวีระชัย วีระเมธีกุล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นพ.พฤติชัย ดำรงรัตน์ อดีต รมช.คลัง, นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.พาณิชย์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ส่วนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรวจพบ 3 คน คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ, นายประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สาธารณสุข และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์
ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจำนวน 3 คน ได้แก่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอเชียเวลท์ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการเงินลงทุน 3 รายการ ได้แก่ เงินสด จำนวน 200,000 บาท ,หุ้นของบริษัท เดอะซิกเนเจอร์ แบรนด์ จำกัด จำนวน 235,000 หุ้น และ บริษัท ไรท์ มูฟ จำกัด จำนวน 42,950 หุ้น รวมมูลค่า 3 รายการ ประมาณ 28 ล้านบาท (เฉพาะหุ้น 2 บริษัทประมาณ 27.8 ล้านบาท), นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทำให้นายธนาธรอาจเป็นรายที่ 16
"การให้กองทุนบลายด์ ทรัสต์ เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี เป็นเรื่องการบริหารจัดการความโปร่งใสในการถือครองทรัพย์สินไม่ให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ตามหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ทำเป็นคนแรกช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ขณะที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยโอนให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เครือญาติ หรือคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจได้ถือครองแทน"
- "บรรยง" ตีปี๊บขายของ อวยคนแรกเผยต่อสาธารณะตั้งแต่ยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โพสต์เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ระบุว่า ในนามของประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ขอขอบคุณความไว้วางใจที่มอบให้ บริษัทฯ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันทุกประการ เพื่อให้แยกผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากการทำงานด้านการเมือง ซึ่งสำหรับเราเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพการจัดการการลงทุนตามปกติ ไม่ได้เป็นการเลือกข้าง เลือกพรรค สนับสนุนการสร้างบรรทัดฐานที่ดีเช่นนี้ในการเมืองไทย และยินดีที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับทุกคน ทุกพรรค ที่มีเจตนาและความตั้งใจจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจทุกคนควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า มุ่งคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ออกนโยบายเอื้อธุรกิจตัวเองหรือพวกพ้อง หรือใช้ข้อมูลภายใน ที่ได้จากตำแหน่งทางการเมืองไปซื้อหุ้นทำกำไร เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญมาตลอด แต่ก็มีหลายคนหาทางซิกแซก "ซุกหุ้น" ตลอดมา อย่างเช่นคดีนายทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 วางเกณฑ์เข้มข้นกว่าเดิมอีก โดยมาตรา 184 ห้ามไม่ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถือหุ้นในบริษัทหรือกิจการที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม
"ถ้าการห้ามถือหุ้น แปลว่าต้องขายหุ้นไปให้คนอื่น นักการเมืองก็จะไม่ได้รับประโยชน์โภชผลใดๆ ในหุ้นนั้นอีก เท่ากับหมดสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เคยเป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะลดแรงจูงใจของนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ฉะนั้นคำถามก็คือ มีวิธีใดหรือไม่ที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่ตัดสิทธิของนักการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากหุ้นคำตอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำกันทั่วโลก คือ ให้ทำข้อตกลงโอนหุ้นนั้นให้มืออาชีพทางการเงินบริหารแทน ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจะให้ดีก็ควรให้บริหารแบบบลายด์ ทรัสต์ คือ ให้เจ้าของเดิม คือนักการเมืองไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ในทรัพย์สินนั้นเลย ไว้ใจให้มืออาชีพบริหารจัดการแทนให้เกิดผลงอกเงย ระหว่างที่ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมือง" นายบรรยง กล่าว
นายบรรยง กล่าวว่า การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทน กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ออกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นบลายด์ ทรัสต์ ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้ การลงนามเอ็มโอยูของนายธนาธร โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบบลายด์ ทรัสต์ ก่อนที่ตัวเองจะรู้ผลการเลือกตั้ง จึงนับเป็นก้าวที่น่าชื่นชม ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง สังคมควรเรียกร้องให้นักการเมืองคนอื่นทำตาม
ทั้งนี้ แม้จะมีรัฐมนตรีที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบบลายด์ ทรัสต์ แต่นายธนาธรเป็นคนแรก ที่เปิดเผยรายละเอียดเอ็มโอยูต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ (Revolving Door) ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น