xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า” วอน ศจย.อย่าด่วนสรุป “บุหรี่ไฟฟ้า” ทำเด็กติด “บุหรี่มวน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า” วอน ศจย.อย่าด่วนสรุป “บุหรี่ไฟฟ้า” ทำเด็กติด “บุหรี่มวน” เผย WHO ก็ยังไม่ฟันธง แค่แนะนำให้หามาตรการควบคุม-จำกัดการขายการใช้ป้องกันเยาวชน ยกแนวทางหลายประเทศลดจำนวนผู้สูบบุหรี่จริง เหตุปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ย้ำหากต้องการจำกัดการเข้าถึงของเยาวชน ผลิตภัณฑ์ต้องถูกกฎหมายจะได้ใช้มาตรการควบคุมตาม พ.ร.บ.ยาสูบ ได้ ปลื้ม พณ.เชิญให้ความคิดเห็นเพื่อทบทวนมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” และเฟสบุ๊คเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” กล่าวถึง ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่พบว่ามีเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 30% ว่า ทั้งๆ ที่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกแบนอยู่ แต่มีจำนวนผู้ใช้มาก ก็แสดงว่าสามารถลักลอบหาซื้อได้ตามร้านใต้ดิน แสดงว่าการแบนไม่ใช่มาตรการการป้องกันเยาวชนที่เหมาะสมแต่อย่างใด ที่สำคัญจากคู่มือพื้นฐานด้านนโยบายการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปี 2018 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสาเหตุของการติดบุหรี่ในเด็กและเยาวชน ขณะที่ สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ซึ่งสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกเคยระบุว่า อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำในกลุ่มเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่มีจำนวนน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามอัตราผู้สูบบุหรี่อังกฤษลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ที่ 15.1% โดยกว่า 1.7 ล้านคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่มวน สอดคล้องกับ ดร.แบรด โรดู นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยมะเร็งเจมส์ เกรแฮม บราวน์ ชี้แจงการทดลองบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไม่ได้แปลว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนหันมาติดบุหรี่

ด้าน นายมาริษ กรันยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวเสริมว่า ในคู่มือของ WHO ยังระบุด้วยว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ควรได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม โดยหน่วยงานสาธารณสุขจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูล ศึกษาผลการวิจัย ข้อดีข้อเสียที่จะได้จากบุหรี่ไฟฟ้า จะได้ตัดสินใจวางมาตรการที่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ WHO แนะนำว่าการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ พวกนี้ทำได้หลายแนวทางขึ้นกับความอันตรายและความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ บุหรี่ไฟฟ้ามีผลการศึกษายืนยันว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน รัฐบาลก็ไม่ควรแบน แต่นำมาควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับล่าสุดได้ เช่น ห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า ห้ามการซื้อขายออนไลน์ หรือกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ เป็นต้น
“ในวันที่ 31 ต.ค. เครือข่ายฯได้รับเชิญให้ร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อทบทวนมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเราต้องขอบคุณภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และรับฟังเสียงจากภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 3 แสนคนในประเทศที่ไม่อยากถูกบังคับให้กลับไปใช้บุหรี่ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า” นายมาริษ ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น