“มหรรณพ” เผยห่วงคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่รัดกุม หวั่นเปิดช่องการเมืองครอบงำ “ครูหยุย” สวด กกต.ทำน่าเกลียด ไม่ปลื้มรายชื่อผู้ตรวจฯ อิงขั้วการเมืองบอกสวมหัวใหม่ต้องเปลี่ยนแขนขา ด้านเว็บทำโพลสำรวจหนุน แต่ตอบแบบไม่มียืนยันตัวตน
วันนี้ (6 ส.ค.) นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อ สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง กล่าวว่า สาระสำคัญของการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กกต.คือ การเพิ่มมาตรา 28/1 กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนการให้ กกต.ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเหมือนใน พ.ร.บ.กกต.ฉบับปัจจุบัน เนื่องจาก สนช.หลายคนห่วงใยการให้ กกต.ไปออกระเบียบการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจมีความหละหลวม ไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ เพราะระเบียบ กกต.สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยของกกต.แต่ละชุดที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจเป็นช่องว่างให้การได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองได้ในอนาคต ดังนั้นจึงควรกำหนดที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนว่า มาจากคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยระบุลงใน พ.ร.บ.กกต.โดยตรง ทั้งนี้ โครงสร้างของคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มี 7 คน ประกอบด้วย 1. ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 2. หัวหน้าผู้พิพากษาจังหวัด 3. หัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด 4. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5. ประธานหอการค้าจังหวัด 6. ประธานอุตสาหกรรมจังหวัด 7. ผอ.กกต.จังหวัด ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างน้อย 16 คนต่อจังหวัด เพื่อส่งต่อให้ กกต.คัดเลือกให้เหลือ 8 คนต่อจังหวัด
นอกจากนี้ หากให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีที่มาจากระเบียบ กกต. อาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะ กกต.ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เข้ามาปฏิบัติงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหัวแล้ว ควรเปลี่ยนลำตัว แขนขาด้วย ไม่ใช่เอาหัวมาสวมอย่างเดียว อาจเกิดปัญหาการทำงานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันไม่ดี แต่ต้องการให้ที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งมีความชัดเจน รัดกุม ไม่มีเจตนาต้องการล้มผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบัน ผู้ผ่านการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันก็มีสิทธิกลับมาดำรงตำแหน่งได้ หากผ่านเงื่อนไขตามกฎหมาย กกต.ที่เสนอแก้ไขใหม่ ในฐานะที่เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.กกต.ไม่ได้ซีเรียสจะต้องแก้ไขให้ได้ตามที่เสนอไป หากรัฐบาลหรือ กกต.เห็นว่ามีทางออกอื่นที่ดีกว่าก็ยอมรับ ไม่ได้ดันทุรังต้องเอาให้ได้ แค่เป็นห่วงว่าระเบียบเดิมที่ทำไปอาจเกิดปัญหาในอนาคต เป็นการทำด้วยความหวังดี ไม่ได้มีใบสั่งจากใครให้แก้ไข ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอขอแก้ไขอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ยังไม่รู้จะผ่านความเห็นชอบจากสนช.หรือไม่
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมลงชื่อขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กกต. โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า กกต.ชุดปัจจุบันรีบร้อนตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่รอ กกต.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ คล้ายกับกรณีโยกย้ายข้าราชการภายใต้รัฐมนตรีคนที่จะหมดวาระ ขณะที่รัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรรกะที่เกิดขึ้นจึงเห็นด้วยว่าการกระทำของ กกต.ชุดปัจจุบันน่าเกลียด เมื่อพูดถึงมารยาทแล้วไม่ควรทำ จึงลงนามรับรอง เพราะเห็นว่าเพื่อไม่ให้มีปัญหาควรรอ กกต.ชุดใหม่ดำเนินการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง สิ่งที่ สนช.ทำไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจของ กกต.ชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยควรดึงไว้หน่อย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อาจแก้ไขหรือใช้ไม่ทันการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อเตรียมการเลือกตั้งก็ได้ เพราะยังมีหลายขั้นตอน ทั้งการเสนอไปยัง ครม. และการรอให้ กกต.เสนอร่างกฎหมายมาประกบ และการรับฟังความเห็นประชาชน กว่าที่เรื่องนี้จะสำเร็จคงตั้งผู้ตรวจเลือกตั้งครบทั้งประเทศแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กกต. เรื่องการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีสนช.เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขทั้งหมด 36 คน เป็น สนช.สายพลเรือนทั้งหมด ไม่มีสายทหารร่วมลงชื่อ เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ โดยมีนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อ และมี สนช.อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ร่วมลงชื่อ เพราะเห็นว่ากระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.กกต.ฉบับปัจจุบันยังไม่มีความรัดกุม โดยแนวทางแก้ไขจะไปเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดเก่าที่ กกต.ชุดปัจจุบันสรรหาไว้แล้วให้พ้นสภาพไป และให้มีการดำเนินการสรรหาใหม่ตามกระบวนการที่นายมหรรณพนำเสนอในรอบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นสอดคล้องด้วย ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดปัจจุบันเห็นชอบในขณะนี้ ส่วนใหญ่ถูกมองว่าอิงกับฝ่ายการเมืองบางขั้วมากเกินไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ www.senate.go.th ได้นำเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉบับที่ 36 สนช.เข้าชื่อเสนอแก้ไข มาลงในเว็ปไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยมีกำหนดรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-18 ส.ค. โดยผลสำรวจความเห็นของประชาชนล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 3-6 ส.ค. รวม 4 วัน มีผู้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกือบ 1,200 ครั้ง ผลปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วยต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกือบ 100% ใน 6 คำถามที่มีการตั้งประเด็นให้ตอบ โดยมีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวได้ทดลองร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่า การเข้าไปตอบแบบสอบถามนั้นไม่จำเป็นต้องกรอกชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน เพื่อยืนยันความมีตัวตน โดยจะเข้าไปตอบแบบสอบถามร่วมแสดงความคิดเห็นกี่ครั้งก็ได้ ไม่มีการจำกัดช่วงเวลา