อดีต กกต.ที่โดน ม.44 ปลด มีงานทำแล้ว นั่งรักษาการคณบดีรัฐศาสตร์นิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ แทน “เรืองวิทย์” อดีตว่าที่ กกต. ยันทุ่มเททำงานเต็มที่ ทำประโยชน์ให้ถิ่นเก่า
วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งถูกหัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2561 ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็น กกต. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2561 ไปดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า เนื่องจากศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการและการบริหารงานของสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ ฉะนั้นอาศัยอำนาจตามาตรา 24 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2535 ประกอบข้อ 11 (4) และข้อ 13 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหาร ในมหาวิทยาลัย 2537 จึงให้ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสิทธิยากร เป็นรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ ก่อนหน้านี้ เป็น 1 ใน 5 ว่าที่ กกต.ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหาหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.2560 บังคับใช้ และให้มีการเซตซีโร่ กกต.ชุดปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในขณะนั้นศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ ระบุในคุณสมบัติการสมัคร ว่า เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
ขณะเดียวกัน นายสมชัย ก็โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงงานในหน้าที่ใหม่ ยืนยันจะทุ่มเทในการทำหน้าที่ทำประโยชน์ให้กับถิ่นเก่า โดยระบุว่า “บินหลา คืนถิ่น”
สี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว (พ.ศ.2520) ผมเดินทางคนเดียวโดยรถไฟชั้นสามจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังชุมทางหาดใหญ่ เพื่อไปเป็นสมาชิกใหม่ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่ามกลางความรู้สึกห่วงใยของครอบครัวว่าจะต้องไปพักอาศัยในแดนไกลกับเพื่อนนักศึกษาที่ไม่รู้จักกันมาก่อนในหอพักของมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้น ผมใช้เวลาสี่ปีในการศึกษาพร้อมไปกับการเรียนรู้ชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคมในภาคใต้ ออกค่ายอาสาพัฒนาเมื่อมีโอกาส เข้าพื้นที่ชนบทในหลายจังหวัดชายแดนใต้ ทำกิจกรรมหลากหลายกับเพื่อนในและต่างมหาวิทยาลัยที่ทำให้เรารู้จักตัวเราและสังคมชาวใต้ที่มากขึ้น
ผมมีจักรยานและกล้องถ่ายรูป เวลาที่ว่างคือปั่นจักรยานไปหามุมภาพที่สวยๆ เพื่อบันทึกไว้ เคยปั่นคนเดียวไปไกลสุดจากหาดใหญ่ไปสงขลา และ ลงแพข้ามไปเขาหัวแดง ฝั่งสทิงพระ และปั่นกลับหาดใหญ่ เคยใฝ่ฝันจินตนาการจะปั่นกลับกรุงเทพฯ แต่เพื่อนๆ คนใต้ห้ามไว้ ว่า ไกลและไม่ไหวหรอก ซึ่งจริงๆ ก็คงไม่ไหว แต่ยังเก็บมาเข้าฝันอยู่อีกหลายครั้ง
ชีวิตสี่ปีของผมช่วงนั้นจึงพันผูกกับภาคใต้อย่างแนบสนิท ข้าวแกงที่ตลาดกิมหยง พร้อมน้ำพริกกะปิและผักเคียง คือ เจ้าประจำของผม ขนมจีนที่สวนสาธารณะหาดใหญ่พร้อมผักจานใหญ่ที่แล้วแต่ความสามารถบริโภคก็เป็นอะไรที่เคยไปลองอยู่เนืองๆ ไก่ทอดพร้อมหอมทอดและข้าวเหนียวที่ไปทานที่ไหนก็ไม่มีเหมือนเป็นอาหารค่ำอยู่เป็นนิตย์ ผมเริ่มฟังภาษาใต้ได้บ้าง แม้จะพูดไม่ได้ก็ตาม
หลังจากจบการศึกษา ผมมีโอกาสได้ลงไปอีกหลายครั้ง ทั้งไปสอนหนังสือให้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ทุกครั้งที่มีการติดต่อมา ผมไม่เคยปฏิเสธ แม้ว่าในบางจังหวัดเป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปคิดว่าน่ากลัวในเหตุการณ์รุนแรง ไม่กล้าลงไปก็ตาม แต่ผมรู้สึกคุ้นเคยกับเมืองเหล่านี้ รู้จักถนน รู้จักตลาด รู้แหล่งของกิน จึงรับปากลงไปทุกครั้งที่มีการติดต่อมา
ความผูกพันกับภาคใต้ จึงเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายว่าทำไมจึงคิดหรือรู้สึกเช่นนั้น
1 สิงหาคม 2561 คือ โอกาสใหม่อีกครั้งหนึ่ง ที่ผมจะกลับไปใกล้ชิดกับสิ่งที่เคยห่างมา
คราวนี้คือโอกาสเต็มๆ ในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์คืนกลับยังภาคใต้ที่ผมเคยร่ำเรียนศึกษา ให้ความรู้ความคิด จนกลายเป็นตัวตนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
วัยเกือบหกสิบปีกับประสบการณ์ร้อนหนาวที่ผ่านมามากมาย จะเริ่มต้นอีกครั้งในการทุ่มเทบางสิ่งบางอย่างในด้านการศึกษาให้กับภาคใต้ “ให้สมญานาม ว่าลูกสงขลา นครินทร์ยิ่งใหญ่ พระราชบิดรผู้เกรียงไกร เหนือหัวใจแห่งเรา”
รับปากว่า จะทุ่มเทเต็มที่ครับ