ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ (22 ก.ค.) โดยกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนครบวาระ 7 ปี
วันนี้ (21 กค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับนี้ เนื้อหาแกต่างจากกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับเดิมหลายประเด็น โดยให้อำนาจในการสอบสวน ไต่สวน การส่งฟ้องได้อย่างกว้างขวางและคลอบคลุมกว่าฉบับเดิม การเพิ่มหน้าที่ ให้กรรมการ ป.ป.ช.ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริต
ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยกฎหมายฉบับเดิมให้กรรมการ ป.ป.ช. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่ฉบับใหม่นี้กำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยหากมีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนและยื่นร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัยได้
กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับนี้จึงได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.ให้เข้มงวดกว่าเดิม และปรากฏว่ากรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจบุันส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติที่กำหนดขึ้นใหม่ แต่ได้มีการเขียนบทเฉพาะกาลยกเว้นเอาไว้ เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ 7 ปี หรือจนอายุครบ 70 ปี หลังจากที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 2 ปี