ปธ.กกต.เชื่อ กกต.ใหม่ไม่มีปัญหาทำงาน แนะศึกษาข้อกฎหมายให้ดีหลังจากมีการเปลี่ยนกติกาใหม่ เผยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง “ดอน” ถือครองหุ้นขาดคุณสมบัติไว้วินิจฉัยแล้ว เตือนกลุ่มสามมิตรต้องไม่เสนอประโยชน์แลกดูดสมาชิกเข้าพรรค ระบุใครมีหลักฐานยื่นร้อง กกต.หากเอาผิดได้จริงมีรางวัล ส่วนปมคลิปทักษิณยังอยู่แค่ติดตามข้อมูล
วันนี้ (19 ก.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 จะรอให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อนว่า ยังไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของเงื่อนเวลา เพราะที่ กกต.เสนอไปคือในช่วง 90 วันหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วง 90 วันแรก รอการประกาศราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม กกต.ได้เตรียมระเบียบ ประกาศต่างๆ ซึ่งมีประกาศ 2 ฉบับและคู่มือ 12 ฉบับไว้รองรับตามกฎหมายแล้ว
เมื่อ กกต.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องมีการส่งมอบงานใดๆ เพราะเลขาฯ กกต.จะดูแลงานด้านธุรการต่างๆ ของสำนักงานภายใต้ การกำกับดูแลของ กกต.อยู่แล้ว จึงเชื่อว่า กกต.ชุดใหม่ซึ่งมีวุฒิภาวะและคุณวุฒิมีประสบการณ์การทำงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ต้องเป็นห่วง และคงมีการศึกษาการทำหน้าที่ กกต.มาก่อนแล้วจึงเข้ามาสมัคร อีกครั้ง กกต.เป็นเพียงผู้คุมนโยบายส่วนผู้จัดการเลือกตั้งจริงๆ คือ สำนักงาน กกต.ที่เปิดทำการมา 20 ปีแล้วผ่านประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาหลายครั้ง จึงไม่น่ามีปัญหา แต่ในการจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่ไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยได้และศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะเกิดจากการขัดขวางการเลือกตั้ง หากไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้งก็เชื่อว่าการจัดการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความราบรื่น
ทั้งนี้ คนที่มาปฏิบัติหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ต้องเสียสละ อดทน อดกลั้น ศึกษาข้อกฎหมายและระเบียบที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้ดี โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้ได้ 3 อย่าง คือ เลือก ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.สบัญชีรายชื่อและเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งในแต่ละเขตไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั่วราชอาณาจักร และยังมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นของใหม่จึงต้องศึกษาให้ดี รวมทั้งอำนาจตามกฎหมายใหม่ที่ให้พนักงานสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบคลิปวิดีโอของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าเข้าข่ายชี้นำ ครอบงำจนอาจเป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าพูดกับใคร กับกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ เพราะจะเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อพรรคให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชี้นำ ครอบงำ แต่คำพูดของนายทักษิณจะเป็นการชี้นำหรือไม่ต้องตรวจสอบก่อน
ในชั้นนี้จึงอยู่ในระหว่างการติดตาม ยังไม่มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง อีกทั้งพรรคการเมืองก็ยังประชุมไม่ได้ จึงต้องดูข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นไปขนาดนั้น แต่ถ้าใครมีหลักฐานหรือเบาะแส สามารถส่งมาที่ กกต. หากพยานหลักฐานนั้น นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ผู้ที่เอาหลักฐานมาให้จะได้รางวัลในการชี้ช่องเบาะแส แต่ชั้นนี้ ยังเป็นเพียงการกล่าวหาลอยๆ ซึ่งตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 101 การกล่าวหาด้วยความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หากเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
นายศุภชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณี 90 สนช. และ 3 รัฐมนตรี ถูกร้องเรียนว่าครอบครองหุ้น สัมปทานเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่ง ว่าอยู่ในระหว่างการขยายระยะเวลาการสอบสวน ซึ่งต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนไม่ใช่คิดเอาเอง ต้องมีการขอข้อมูลไปยังบริษัทที่ถูกกล่าวอ้างการที่ กกต.จะลงโทษใคร ให้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งก็เหมือนโทษประหารชีวิต เพราะไม่สามารถเล่นการเมืองหรือสมัครราชการได้ ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงหากมีการถือหุ้นสัมปทานจริงก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ
ส่วนกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กกต.ได้ส่งคำร้องไปให้ศาลธรรมนูญวินิจฉัย และทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้วแต่ยังไม่ได้นัดว่าจะพิจารณาคดีเมื่อใด ขณะนี้จึงถือว่าหมดหน้าที่ กกต.แล้ว
นายศุภชัยยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ว่าขณะนี้มีคำร้องเรียนของนายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรีพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นคำร้องเข้ามา กกต.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่เบื้องต้นต้องเข้าใจว่าทุกคนที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองสามารถหาผู้ร่วมก่อตั้งได้ ไม่เป็นความผิดเนื่องจากจะหาคนให้ได้ 500 คนตามกฎหมายก็ต้องไปชักชวนแต่มีข้อแม้ว่าการชักชวนบุคคลให้เข้ามาร่วมพรรคการเมืองต้องไม่เสนอให้สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพราะเป็นความผิดตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง
ส่วนผู้ถูกชักชวนก็ต้องไม่รับหรือเรียกรับเพื่อไปเป็นสมาชิกเพราะมีความผิดตามมาตรา 31 ของกฎหมายเดียวกันแต่ตอนนี้ยังไม่ปรากฏว่าการทาบทามมีการเสนอหรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแต่กกตก็กำลังตรวจสอบ ถ้าใครมีหลักฐาน ให้ส่งมาที่กกต และเมื่อดำเนินคดีเสร็จแล้วผู้ที่แจ้งเบาะแสก็จะได้รับรางวัล
ส่วนกรณีบุคคลที่ตกเป็นข่าวว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้รับตำแหน่งในรัฐบาล เช่น นายสกลธี ภัททิยกุล ได้รับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะถือว่าเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงว่ามีการตอบแทนผลประโยชน์หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งพรรคการเมือง ส่วนคนที่ได้ตำแหน่งในขณะนี้จะไปร่วมกับพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ก็ต้องดูต่อไปในอนาคต ส่วนที่กลุ่มสามมิตร ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปถือเป็นสิทธิ แต่การสนับสนุนนั้นอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง ขอให้ดูมาตรา 30 และมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเป็นหลักและใครที่จะกล่าวหาต้องระมัดระวังอย่ากล่าวหาเท็จ เพราะจะถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรคู่ขนานไปกับการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีจะเข้าข่ายผิดกฎหมายใดหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ต้องแยกแยะเพราะการลงพื้นที่ของฝ่ายบริหารมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎร อาจเป็นเรื่องบังเอิญแต่ถ้าใครมีหลักฐานว่าสองฝ่ายนี้ร่วมมือกันให้เงินเพื่อตอบแทนให้เป็นสมาชิกพรรคก็ส่งมาให้ กกต.ได้ แต่ขณะนี้พรรคก็ยังไม่ได้ตั้ง