หนุ่มการบินไทยร้อง “บิ๊กตู่” สอบบริษัทประกัน หลังโดนหั่นเงินประกันภัยยับ ซ้ำคดีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์หล่นทับฟอร์จูนเนอร์ไม่คืบ ด้าน “ทนายรณณรงค์” จี้นายกฯ งัด ม.44 เพิ่มโทษเจ้าของบริษัทและใช้มาตรการคุมรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์อย่างเข้มงวด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ก.ค.ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. นายวรวุฒิ อยู่ญาติมาก หัวหน้าโฟร์แมนประจำการบินไทย สุวรรณภูมิ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อร้องเรียนให้ดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหากรณีไม่ได้รับความยุติธรรมในการจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล และคดีไม่มีความคืบหน้า
นายวรวุฒิกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนประสบอุบัติเหตุโดยรถพ่วงบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 18 ล้อหล่นทับรถยนต์ที่ตนขับอยู่จนแบนราบ ทำให้ตนติดอยู่ใต้ตู้คอนเทนเนอร์ราว 2 ชั่วโมง 45 นาที ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่แขนข้างซ้าย และแพทย์ลงความเห็นว่าเส้นประสาทที่ต้นแขนซ้ายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นตัวของเส้นประสาทอย่างน้อย 3 เดือน และยังไม่สิ้นสุดการรักษา แต่จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากคู่กรณี คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคพีเอส ทรานสปอร์ท อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับบริษัทประกัน คือ บริษัท เทเวศประกันภัย, บริษัท วิริยะประกันภัย และบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด และเรียกค่าเสียหายจำนวน 4.7 ล้านบาท แต่มีการต่อรองลงมาจนเหลือ 1.32 ล้านบาท สาเหตุที่ตนเรียกเงินจำนวนนี้เนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง รวมถึงค่าทุกข์ทรมานที่ต้องติดอยู่ใต้ตู้คอนเทนเนอร์เกือบ 3 ชั่วโมง และค่าเสียโอกาสในอนาคตที่ยังไม่สามารถไปทำงานได้
“ทราบข่าวว่าคนขับรถตู้คันดังกล่าวได้ถูกส่งฟ้องคดีไปแล้ว และได้รับการรอลงอาญา 6 เดือน รวมถึงยึดใบขับขี่ ผมคิดว่าอาการของผมบาดเจ็บสาหัสมาก แต่ทำไมคดีที่เขาได้รับถึงเบา ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็แจ้งว่าผมจะได้เงิน 730,000 บาทที่ถูกหักค่าประกันไปแล้ว และค่าสินไหมอีก 66,800 บาท เท่ากับผมจะเหลือเงินเพียงราว 500,000 บาท จึงขอตั้งคำถามว่ามาหักเงินผมไปทำไม ทำไมบริษัทประกันต้องผลักภาระให้ผมดำเนินการเอง ทำไมจึงไม่ดูแล ถ้าอย่างนี้จะทำประกันเพื่ออะไร” นายวรวุฒิกล่าว
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้จึงขอร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบบริษัทประกัน โดยตนจะไปร้องเรียนเรื่องนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต่อไป
ด้านนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความและประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้มีมาตรการจริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับการควบคุมความปลอดภัยของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ โดยให้มีการเพิ่มโทษ และให้สามารถเอาผิดกับกรรมการนิติบุคคลและกรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่เอาผิดทางอาญาเฉพาะตัวคนขับ ซึ่งในกรณีนี้คนขับไม่สามารถหาเงินมาจ่ายชดเชยความเสียหายได้ ขณะที่กรรมการของบริษัทต้นสังกัดก็ไม่ยอมจ่าย ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หากรับผิดชอบไม่ได้ก็ไม่ควรนำรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มาวิ่งบนท้องถนน