xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพัฒนาผดุงเกียรติวิชาชีพการศึกษา ฉลุย! กฤษฎีกาชี้ช่อง ไม่ขัด กม.บริหารทุนหมุนเวียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กองทุนพัฒนาและผดุงเกียรติวิชาชีพทางการศึกษา” ฉลุย! กฤษฎีกาชี้ช่องไม่ขัด กม.บริหารทุนหมุนเวียน ปี 58 และคำสั่ง หน.คสช.17/60 ส่ง รมว.ศธ.ลงนามได้ เหตุยังไม่มีประกาศคุรุสภาเป็นหน่วยงานของรัฐตาม กม.บริหารทุนหมุนเวียน ย้ำเป็นแค่ควบรวม 2 กองทุนเดิม กองทุนพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา และกองทุนผู้เสียสละและมีจิตวิญญาณครู ให้การบริหารรทรัพย์สินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันนี้ (9 ก.ค.) แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในเรื่องเสร็จที่ 1019/2561 เรื่องอำนาจของคณะกรรมการคุรุสภาในการออกระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยกองทุนพัฒนาและผดุงเกียรติวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2561 กรณีมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2560 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา พิจารณาลงนามตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2560 โดยคำสั่งให้คณะกรรมการคุรุสภาตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง โดยให้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ

โดยกรณีนี้ สำนักงานคุรุสภามีหนังสือสอบถามความเห็นว่า คุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง และผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา มีคณะกรรมการคุรุสภาซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและดำเนินการตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา โดยมีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา รวมทั้งประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นที่คุรุสภามอบหมาย ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้จัดทำระเบียบ คุรุสภา ว่าด้วยกองทุนพัฒนาและผดุงเกียรติวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เสนอ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2560 เพื่อพิจารณาลงนาม

ต่อมา รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งมอบที่ปรึกษาและฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่ และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 หรือไม่ ซึ่งคณะทำงานกฎหมาย รมว.ศึกษาธิการพิจารณาระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยกองทุนพัฒนาและผดุงเกียรติวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2561 แล้ว เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวมุ่งการจัดตั้งกองทุนเป็นหลัก จะต้องมีการดำเนินการทางการเงิน ระบบบัญชี ฯลฯ ที่เกินไปกว่าบทบัญญัติตามที่กล่าวอ้าง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรมอบคุรุสภา หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นว่า สามารถให้อำนาจจัดทำระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยกองทุนพัฒนาและผดุงเกียรติวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาและได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยกองทุนพัฒนาและผดุงเกียรติวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เป็นการดำเนินการควบรวมกองทุนอันเป็นทรัพย์สินของคุรุสภาที่มีอยู่เดิม คือ กองทุนพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาและกองทุนผู้เสียสละและมีจิตวิญญาณครู เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินของคุรุสภามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ในขั้นตอนการเสนอร่างระเบียบดังกล่าวต่อ รมว.ศึกษาธิการในฐานะประธานคุรุสภาเพื่อพิจารณาลงนาม มีข้อสงสัยในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การออกระเบียบดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 หรือไม่ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้มีหนังสือสอบถามแนวทางการดำเนินการในประเด็นปัญหาดังกล่าวไปยังกรมบัญชีกลาง และกรมบัญชีกลาง ถึงสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สรุปความได้ว่า กองทุนพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาและกองทุนผู้เสียสละและมีจิตวิญญาณครูจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และกองทุนทั้งสองกองทุนไม่ถือว่าเป็นทุนหมุนเวียนตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558”

อย่างไรก็ตาม แม้กรมบัญชีกลางจะได้มีหนังสือตอบประเด็นปัญหาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาแล้ว แต่รมว.ศึกษาธิการยังเห็นว่าประเด็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่ยังไม่เป็นที่ยุติ ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) จึงเห็นว่า ตามข้อหารือของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดังกล่าวมีประเด็นต้องพิจารณาทั้งสิ้นสองประเด็น และมีความเห็นในแต่ละประเด็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การออกระเบียบคุรุสภาฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 หรือไม่ เห็นว่า คุรุสภาเป็นสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งรายได้ของคุรุสภานั้น มาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันกำหนดให้ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ประกอบกับคุรุสภาไม่ถือว่าเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการจัดตั้งและการบริหารทุนหมุนเวียนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว

อีกทั้งปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนยังไม่มีการประกาศกำหนดให้คุรุสภาเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ ในกรณีข้อเท็จจริงเดียวกัน กรมบัญชีกลางได้เคยมีหนังสือตอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาในประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้วว่า กรณีที่คุรุสภาและคณะกรรมการคุรุสภาได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาและกองทุนผู้เสียสละและมีจิตวิญญาณครูขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กองทุนดังกล่าวจึงมิใช่ทุนหมุนเวียนและไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ดังนั้น การออกระเบียบคุรุสภาดังกล่าวซึ่งเป็นการควบรวมกองทุนทั้งสองข้างต้นเข้าด้วยกัน จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558

ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการคุรุสภามีอำนาจในการออกระเบียบคุรุสภาฯ หรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการคุรุสภามีอำนาจในการบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของคุรุสภาตามมาตรา 20 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การออกระเบียบคุรุสภาฯ เป็นการควบรวมกองทุนอันเป็นทรัพย์สินของคุรุสภาที่มีอยู่เดิม คือ กองทุนพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาและกองทุนผู้เสียสละและมีจิตวิญญาณครู ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วโดยคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานคุรุสภาอยู่แต่เดิมและไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินของคุรุสภามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันถือว่าเป็นการบริหารและจัดการทรัพย์สินของคุรุสภา ดังนั้นจึงเห็นว่าการออกระเบียบคุรุสภาฉบับนี้เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการคุรุสภาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546


กำลังโหลดความคิดเห็น