xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ขู่ไพรมารีไม่ทันเลือกตั้งช้า ย้อนหาพิมพ์เขียวพรรคแก้ รธน. ดักเอาแต่ใจเผด็จการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ.ขู่ไพรมารีไม่ทันก็เลือกตั้งช้า โดดป้อง รธน. ถามหาพิมพ์เขียวพรรคก่อนชูแก้ ตีขลุม เผด็จการเอาแต่ใจ-เผด็จการแท้ยังไม่กล้า ปลุกฝ่ายหนุนโหมต้าน

วันนี้ (26 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง 5 ปัจจัยที่จะมีผลในการกำหนดวันเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 62 - 5 พ.ค. 62 ว่า 5 ปัจจัยเป็นเงื่อนไขที่ต้องดูว่าเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าไม่ก็แก้กันให้เรียบร้อย การประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ก็มารับข้อมูลร่วมกันแล้วจะได้เข้าใจตรงกัน ส่วนกำหนดคลายล็อกพรรคการเมืองนั้น ยังไม่ได้คุยกันใน คสช. ซึ่งเป็นเรื่องมองต่างมุม คสช.มองเรื่องความสงบเรียบร้อย พรรคเองก็คงใจร้อน สำหรับการทำไพรมารีโหวตนั้น กรธ.ไม่ได้ร่างเพราะมองว่ากลไกที่มีในรัฐธรรมนูญทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว แต่พอ สนช.แก้ให้มีไพรมารีก็ต้องเดินตาม หากเกิดติดขัดก็ต้องแก้หรือทบทวน เพื่อพยายามทำให้ประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าดูตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมือง ที่มีคำสั่ง คสช.แก้ไขก็ผ่อนมาเยอะแล้ว จากทำทุกเขตก็ให้ทำรายจังหวัด

“ต้องพูดกันให้ชัดว่าปัญหาจริงๆ แล้วคืออะไร ถ้าทำไม่ทัน ปัญหาก็คือเวลา ที่คอยเร่งรัดอยากให้เลือกตั้งเร็วก็คงทำไม่ได้ หากจะแก้ก็ต้องดูความเหมาะสม จะใช้วิธีและเวลาแก้กันอย่างไร การใช้ ม.44 ก็จะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น การปฏิรูปการเมืองต้องเริ่มจากภายในพรรค ทำให้เป็นของประชาชนจริงๆ ไม่มีใครครอบงำ ส่วนข้อเสนอจากฝ่ายการเมืองก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป หากจะให้ยกเลิกเลยก็น่าเสียดายโอกาส หากจะให้ทำระดับภาค ก็ไม่ได้สะท้อนอะไร มีเพียง 4-5 ภาค คลุมทั้ง 77 จังหวัด แทนที่จะมาโทษกันก็ขอให้ช่วยกันคิด ปฏิรูปต้องช่วยกันคอยนั่งด่าว่ากันไม่เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง ต่างคนต่างเสนอก็เป็นปัจเจกไปคนละทิศคนละทาง แทนที่จะมาทีละคนรวมกันเป็นกลุ่ม 5-10 คน เสนอจะดีกว่า นี่เป็นสำนึกที่เราควรจะมี” นายมีชัยกล่าว

เมื่อถามถึง จุดยืนพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง นายมีชัยกล่าวว่า ทำได้ ถ้าอยู่ในกรอบที่กำหนด เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครอง การแก้ไขก็จะต้องมีกรอบ ไม่ใช่เอากระดาษเปล่ามาวาง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างตอน กรธ.ร่างก็มีกรอบ ที่ร่างออกมาก็ได้ชอบใจทั้งหมด แต่ก็ต้องแบ่งกันไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด ซึ่งในส่วนของการแก้ไข ที่ให้เสียง ส.ว.1 ใน 3 และเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านด้วยนั้น ก็เป็นไปตามหลักที่จะต้องใช้ 2 สภาในการแก้ไข เพื่อทุกฝ่ายจะได้มองในแง่มุมของตนเอง ไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างเดียว ส่วนการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ก็เพราะเห็นประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยจะยื่นให้ศาลช่วยตรวจสอบ

“การจะแก้ไขก็เพราะมองแต่จุดที่ไม่ชอบ ทั้งที่มันมีจุดชอบอยู่ แล้วแต่ละคนต่างก็ชอบและไม่ชอบต่างกันไป ถ้าเอาแต่ใจตนเองก็เป็นเผด็จการ ที่ขนาดเผด็จการจริงๆ ยังไม่กล้าทำ จะเอาตามใจตนเองหรือพวกตนกลุ่มเดียวไม่ได้ จะแก้ไขก็ต้องบอกก่อนจะแก้อย่างไร คนอีก 66 ล้านคนจะได้รู้ด้วย ทำได้แต่ต้องบอกให้รู้ด้วยจะทำอย่างไร ส่วนคนที่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาก็มีสิทธิที่จะปกป้องและคัดค้านได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะแก้ไขไปสู่อะไร” ประธาน กรธ.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น