xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” เปิดงาน Thailand Business Forum ที่ปารีส ย้ำเลือกตั้งต้นปีหน้า - ชวนนักลงทุนฝรั่งเศสมาไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นายกฯ” กล่าวเปิดงานสัมมนา Thailand Business Forum ที่กรุงปารีส เชิญชวนนักลงทุนมาไทย จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะรัฐบาลมุ่งมั่นปฏิรูปทุกมิติ ทั้งระบบราชการ - การอำนวยความสะดวก ยันต้องเห็นผลก่อนเลือกตั้งต้นปีหน้า

วันนี้ (25 มิถุนายน 2561) เวลา 10.00 น. ณ แซร์กเลอ เดอ ลูนิยง แองแตร์อัลลิเย่ (Cercle de l’Union Interalliée) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานสัมมนา Thailand Business Forum ซึ่งจัดโดยสภานายจ้างฝรั่งเศส MEDEF International ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมี ผู้บริหารระดับสูงของไทย ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก และ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมรับฟังด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ ค.ศ. 1685 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้มีการส่งราชทูตเพื่อมาเจริญสัมพันธไมตรีและเชื่อมโยงการค้าอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้านการค้าระหว่าฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ในสหภาพยุโรป ปีที่ผ่านมา ไทยและฝรั่งเศสมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 4,452 ล้านยูโร การส่งออกของไทยไปยังฝรั่งเศสในปี 2017 มีมูลค่า 1,507 ล้านยูโร และนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 2,943 ล้านยูโร

ฝรั่งเศสยังมีบทบาทด้านการลงทุนในประเทศไทย ทั้งแง่ของขนาดธุรกิจและสาขาการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เช่น อากาศยาน ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้าง พลังงาน และอิเล็กทรอนิกส์ หลายบริษัทฝรั่งเศสที่ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งจำหน่ายในประเทศ เช่น Michelin (ยางรถยนต์ และ ยางล้ออากาศยาน) เอสซีลอร์ (Essilor ผลิตเลนส์สายตากับแว่นตา) แซง-โกแบ็ง (Saint Gobain ผลิตกระจกนิรภัย และวัสดุสำหรับงานวิศวกรรม) วาลีโอ (Valeo ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์) และ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน) เป็นต้น การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนจากฝรั่งเศสที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จำนวน 190 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 625 ล้าน ยูโร ล่าสุด ในปี 2017 การลงทุนจากฝรั่งเศสจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของการลงทุนจากยุโรป โดยมีการลงทุนในกิจการที่สำคัญอย่างการวิจัยและพัฒนาด้วย ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการพัฒนาประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนานวัตกรรมในการยกระดับศักยภาพทางการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ดีขึ้น

ด้านการท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเยือนฝรั่งเศส จำนวน 98,000 คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสเดินทางไปยังประเทศไทย 739,852 คน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2017 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่ร้อยละ 3.9 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2018 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปีจากภาวะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า ปี 2018 ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ ร้อยละ 4.2 - 4.7

ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลประกาศใช้นโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้ประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ เคมีและปิโตรเคมีชีวภาพ และดิจิทัล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และสนับสนุนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

สำหรับกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ที่ครอบคลุมการพัฒนาในหลายมิติ รวมถึงมีแผนการปฏิรูปด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ เช่น รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และระบบขนส่งสาธารณะแบบราง การขยายท่าเรือ สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงความเจริญเติบโตเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคนเป็นลำดับแรก เพราะการพัฒนาประเทศ ต้องการทุนมนุษย์ที่เข้มแข็ง พร้อมๆ ไปกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคน วางรากฐานและมีบทบาทเชื่อมโยงกับภาคการศึกษามากขึ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงจากการทำงานในสถานประกอบการ โดยเฉพาะระบบ co-operative education เพื่อเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับที่จะรองรับการลงทุนของประเทศและนักลงทุนที่สนใจเช่นท่านทั้งหลาย

รัฐบาลได้กำหนดให้พื้นที่สามจังหวัดในภาคตะวันออกของไทย เป็นพื้นที่พิเศษที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาค ให้การพัฒนา Eastern Economic Corridor หรือ EEC เป็นโครงการนำร่องสำคัญของรัฐบาลที่จะขยายต่อยอดไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อกระจายความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ออกไปทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญใจกลางอาเซียน เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ CLMVT หรืออาเซียนบนภาคพื้นทวีปที่มีประชากรรวมเกินกว่า 230 ล้านคน และไทยยังจะรดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และนโยบาย Thailand + 1 เน้นเศรษฐกิจเสรี เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของนานาชาติ จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนและสร้างฐานการผลิตในไทย เพื่อตอบสนองความต้องการในภูมิภาคที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนนักลงทุนจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ด้วยรัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศไทยในทุกมิติ โดยการปฏิรูประบบราชการและการอำนวยความสะดวกนั้นเป็นหนึ่งใน 5 เรื่องเร่งด่วน (Quick Win) ที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้าตาม Roadmap 3 ระยะสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประเทศไทยกำลังอยู่ช่วงท้ายของระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระยะที่ 3 นั่นคือการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยและส่งมอบภารกิจให้แก่รัฐบาลชุดต่อไป

อนึ่ง สภานายจ้างฝรั่งเศส (Mouvement des Entreprises de France - MEDEF) เป็นสมาพันธ์นายจ้างที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจากหลากหลายธุรกิจของฝรั่งเศสเป็นสมาชิกมากกว่า 750,000 บริษัท มีวิสัยทัศน์ที่เน้นการดำเนินความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ทั้งนี้ สภานายจ้างฝรั่งเศสมีความร่วมมือที่มีกับบริษัทไทยและประเทศไทยมากว่า 25 ปี โดยสาขาที่บริษัทภายใต้สภานายจ้างฝรั่งเศสสนใจขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ Michelin อุตสาหกรรมอากาศยาน ได้แก่ Airbus อุตสาหกรรมพลังงาน ได้แก่ Engie, Suez อุตสาหกรรมโครงสร้างสาธารณูปโภคและระบบขนส่ง ได้แก่ EGIS, ETF, Fives, Groupe Institut de Soudure, RATP Développement, SNCF การธนาคาร ได้แก่ Euler Hermes Services อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ Sanofi Pasteur และอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้แก่ Thales

สำหรับข้อมูลภาคเอกชนไทยในสาธารณรัฐฝรั่งเศส บริษัทไทยขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในสาธารณรัฐฝรั่งเศส อาทิ Double A Alizay PTT - Global Chemical Thai Union Frozen และบริษัท Sea Value เป็นต้น

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการค้าระหว่างภาคเอกชนไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนฝรั่งเศส รวม 4 ฉบับ




ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการค้าระหว่างภาคเอกชนไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนฝรั่งเศส รวม 4 ฉบับ
ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการค้าระหว่างภาคเอกชนไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนฝรั่งเศส รวม 4 ฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น