ไฟเขียว 348 ล้าน งบกลางปี 61 ให้ 17 โครงการ แก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดหา “เครื่องส่งสัญญาณรบกวน” ประจำรถ อารักขา VIP 3 ชุด วงเงินรวม 105 ล้าน เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ/ขับเคลื่อนนโยบาย 64 ล้าน เน้นเพิ่มประสิทธิภาพชุดครูฝึก ประเมินทัศนคติประชาชน/กำลังพล พร้อมงบ 78 ล้านบริหารจัดการ/กำลังพล
วันนี้ (21 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (19 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้สนับสนุนประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2561 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 348,063,938 บาท ให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) เพื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการและกรอบวงเงินงบประมาณไว้แล้ว และ กอ.รมน. ได้ปรับแผนการดำเนินงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2561 แล้ว จำนวน 20,130,000 บาท
ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2561 (8 ก.พ. 61) เห็นชอบในหลักการโดยให้หน่วยงานพิจารณาปรับแผนการ จากวงเงิน 368,193,938 บาท โดยมีโครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในกรอบวงเงิน 105,000,000 บาท เพื่อจัดหาเครื่องส่งสัญญาณรบกวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมอุปกรณ์การติดตั้ง (สำหรับรถ VIP สำหรับอารักขาบุคคลสำคัญ) จำนวน 3 ชุดๆ ละ 35,000,000 บาท เพื่อทดแทนเครื่องเก่าที่ชำรุด 2 เครื่อง
2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการจับเคลื่อนนโยบาย ในกรอบวงเงิน 64,556,872 บาท ประกอบด้วย โครงการประเมินความพร้อมในการปฏิบัติงานของกำลังประจำถิ่น ในกรอบวงเงิน 1,500,792 บาท เพื่อประเมินผลความพร้อมในการปฏิบัติงานของกำลังประจำถิ่นและสำรวจ ทัศนคติของประชาชนต่อการปฎิบัติงานของกำลังประจำถิ่น, โครงการประเมินความพร้อมในการปฏิบัติงานของกำลังประชาชน ในกรอบวงเงิน 1,108,792 บาท เพื่อประเมินผลความพร้อมในการปฏิบัติงานของกำลังประชาชน และสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อการปฎิบัติงานของกำลังประชาชน
โครงการประเมินทัศนคติของประชาชนต่อการยกเลิกการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 และการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรอบวงเงิน 606,396 บาท เพื่อศึกษาระดับทัศนคติของประชาชนต่อการยกเลิกการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 และต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
โครงการหลักสูตรการฝึกประสิทธิภาพชุดครูฝึก ในกรอบวงเงิน 433,991 บาท เพื่อเตรียมความพร้อม ทบทวน เพิ่มชุดองค์ความรู้และขีดความสามารถให้กับชุดครูฝึก เพื่อนำไปสู่การฝึกสอนและประเมินผลให้กับกำลังพลอาสารักษาดินแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, โครงการหลักสูตรการฝึกประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่โครงการอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรอบวงเงิน 217,988 บาท เพื่อเป็นการฝึกทบทวนภารกิจ มาตรการเชิงรับ ทบทวนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม นโยบาย/สั่งการ และแนวทางในการปฏิบัติที่สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน และนำความรู้ ความสามารถไปขยายผลและทบทวนให้กับกำลังประจำถิ่น
โครงการหลักสูตรเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงานวิทยุชุดคุ้มครองตำบล ในกรอบวงเงิน 477,118 บาท เพื่อให้พนักงานวิทยุทราบหลักพื้นฐานการสื่อสารทางวิทยุ คุณลักษณะ ขีดความสามารถทางเทคนิค ภารกิจ การปฏิบัติงานและนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกไปประยุกต์ใช้ขยายผลให้กับกำลังพลภาคประชาชน, โครงการหลักสูตรการฝึกหัวหน้าชุดคุ้มครองตำบล ในกรอบวงเงิน 926,554 บาท เพื่อให้กำลังพลมีความรู้ ความเข้าใจในยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม มีทักษะและ ประสบการณ์ในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
โครงการหลักสูตรการฝึกชุดปฏิบัติการอาสาสมัครรักษาดินแดน ในกรอบวงเงิน 29,585,876 บาท เพื่อฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาและอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมุ่งเนันการฝึกเทคนิค มาตรการเชิงรับ เพื่อทดแทนกำลังทหารหลัก, โครงการหลักสูตรการฝึกชุดคลี่คลายสถานการณ์ ในกรอบวงเงิน 10,896,565 บาท เพื่อฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาและอาสารักษาดินแดนให้มีทักษะการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ และ ยุทโธปกรณ์พิเศษ เพิ่มขีดความสามารถของชุดคุ้มครองตำบลให้เกิดความชำนาญ มีทักษะสามารถปฏิบัติงาน เชิงรุกไต้อย่างมีประสิทธิภาพ
“โครงการก่อสร้างจำนวน 6 รายการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังอาสารักษาดินแดนในกรอบวงเงิน 18,802,800 บาท เช่น ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์อาคารพักคอย ห้องเรียนกลางแจ้ง ฐานปฏิบัติการจำลอง ลานออกกำลังกาย ระบบเป้าอัตโนมัติ ทั้งนี้ ยังมีโครงการสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศเรื่องสิทธิมนุษยชน ในกรอบวงเงิน 15,100,850 บาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนที่เรียนในตาดีกา เช่น กิจกรรมพบปะบุคลากรศูนย์กลางการศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) แบ่งเป็นค่าอาหารต่อคน มื้อละ 60 บาท อาหารว่างมื้อละ 20 บาท ใน 234 แห่ง”
สำหรับการดำเนินการในการแกัไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรอบวงเงิน 78,827,089 บาท ประกอบด้วย การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในกรอบวงเงิน 7,672,000 บาท ,การดำเนินงานของกองทัพบก ในกรอบวงเงิน 71,155,089 บาท, การดำเนินการกำลังพล ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า (ศอ.บต.สน.) ในกรอบวงเงิน 19,491,000 บาท, การดำเนินการกำลังพล กองทัพบก ในกรอบวงเงิน 84,721,727 บาท และการดำเนินการกำลังพลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศูนย์ประสานงานโครงการอับเนื่องมาจากพระราชดำริ) ในกรอบวงเงิน 496,400 บาท