ส้มเกือบไม่หล่น! “วันดี-เพ็ญศิริ” เหรียญทองแดงยกน้ำหนักโอลิมปิก “ปักกิ่งเกมส์” ปี 2551 หรือ 10 ปีที่แล้ว เกือบดรามาหลังได้ปรับอันดับย้อนหลังยังไม่ได้รางวัลเงินล้าน เหตุ กกท.ถาม “กฤษฎีกา” สามารถใช้กฎหมาย “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ฉบับใหม่จ่ายเงินรางวัลได้หรือไม่ หลังได้ปรับอันดับย้อนหลัง เผยที่ผ่านมาโอลิมปิกไทยได้แค่ทำพิธีมอบเหรียญรางวัล-เข็มเชิดชูเท่านั้น
วันนี้ (20 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 981/2561 เรื่องการจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติแก่นักกีฬาที่ได้รับการปรับอันดับย้อนหลังให้ได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29
ทั้งนี้ ภายหลังการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กก 5107/2166 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยมาตรา 42 (4) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้ใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อสนับสนุนเงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ซึ่งประกอบคุณความดีแก่การกีฬาของชาติหรือนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศชาติ
การกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะฝ่ายเลขานุการกองทุนได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านสวัสดิการกีฬาและปรับปรุงแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 เพื่อขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการฯ ให้กับนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย จำนวน 2 คน ที่ได้รับการปรับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อความถูกต้องและชัดเจน โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทยประสบความสำเร็จได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขัน 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน จากนักกีฬาเทควันโด มวยสากล และยกน้ำหนัก โดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้อนุมัติเงินรางวัลให้แก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬา ตามข้อ 1.1.1 และข้อ 3.1แห่งประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง เงินรางวัลสำหรับองค์กรกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 (ตามหลักเกณฑ์เดิม) รวมเป็นเงิน 24,000,000 บาท (นักกีฬา 16,000,000 บาท ผู้ฝึกสอน 3,200,000 บาท และสมาคมกีฬา 4,800,000 บาท) และเงินสวัสดิการสำหรับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ตามข้อ 3.9.1 แห่งประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง บัญชีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือสวัสดิการ ลงวันที่ 17 กันยายน 2551 (ตามหลักเกณฑ์เดิม) รวมเป็นเงิน 16,000,000 บาท รวมเงินรางวัลและเงินสวัสดิการเป็นเงินทั้งสิ้น 40,000,000 บาท
2. คณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศ (IOC) มีหนังสือลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 และหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 มายังคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แจ้งผลการปรับอันดับให้กับนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย จำนวน 2 คน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งดังกล่าว ดังนี้
2.1 เรือโทหญิง วันดี คำเอี่ยม รุ่น 58 กิโลกรัม หญิง เนื่องจากมีการตรวจพบการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬายกน้ำหนักเหรียญเงิน รุ่น 58 กิโลกรัม หญิง ของสหพันธ์รัฐรัสเซีย คือ Ms. Marina Shainova ส่งผลให้เรือโทหญิง วันดี คำเอี่ยม ได้รับการปรับอันดับจากเดิมอันดับ 4 เป็นอันดับ 3 ได้รับเหรียญทองแดง
2.2 นางสาวเพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล รุ่น 48 กิโลกรัม หญิง เนื่องจากมีการตรวจพบการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬายกน้ำหนัก รุ่น 48 กิโลกรัม หญิง จำนวน 2 คน คือ Ms. Chen Xiexia จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และ Ms. Sibel Ozkan จากสาธารณรัฐตุรกี ส่งผลให้ นางสาวเพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล ได้รับการปรับอันดับจากเดิมอันดับ 5 เป็นอันดับ 3 ได้รับเหรียญทองแดง
โดยคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้ดำเนินการทำพิธีมอบเหรียญทองแดงและเข็มเชิดชูเกียรติให้กับนักกีฬาทั้งสองรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3. ปัจจุบันหลักเกณฑ์การให้เงินรางวัลของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2559 และเมื่อเปรียบเทียบอัตราตามหลักเกณฑ์เดิมและตามหลักเกณฑ์ใหม่จะมีความแตกต่างกัน
4. ในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านสวัสดิการกีฬาและปรับปรุงแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่ประชุมมีมติให้ฝ่ายเลขานุการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการให้กับนักกีฬาที่ได้รับการปรับเหรียญรางวัล
“เพื่อความถูกต้องและชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันได้มีการใช้ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับใหม่แล้ว แต่รายการที่ขอรับการสนับสนุนเป็นรายการแข่งขันในปี พ.ศ. 2551 จึงมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติจะสามารถอนุมัติเงินรางวัลและเงินสวัสดิการแก่นักกีฬาในกรณีดังกล่าว ได้หรือไม่”
การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงขอหารือโดยมีประเด็นคำถาม ดังนี้ 1. อำนาจการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะสามารถอนุมัติเงินรางวัลรายการดังกล่าวได้หรือไม่ ประการใด 2. เนื่องจากอัตราการสนับสนุนเงินรางวัลตามหลักเกณฑ์ใหม่จะมีอัตราที่สูงกว่าหลักเกณฑ์เดิม หากจะพิจารณาให้การสนับสนุนต้องใช้ประกาศหลักเกณฑ์ใด ประการใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อหารือของการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นักกีฬาทีมชาติไทยซึ่งได้รับเหรียญรางวัลจะได้รับเงินรางวัลและเงินสวัสดิการตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง เงินรางวัลสำหรับองค์กรกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง บัญชีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือสวัสดิการ ลงวันที่ 17 กันยายน 2551
แต่ในปัจจุบันนักกีฬาทีมชาติไทยซึ่งได้รับเหรียญรางวัลจะได้รับเฉพาะเงินรางวัลเท่านั้นตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พ.ศ. 2559 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เห็นว่า กรณีตามข้อหารือนี้มีประเด็นต้องพิจารณาเพียงประเด็นเดียว คือ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะสามารถอนุมัติจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการแก่นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยที่ได้รับการปรับอันดับย้อนหลังให้ได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ในการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือและจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
โดยมาตรา 42 (4) บัญญัติให้เงินกองทุนสามารถใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนเงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ซึ่งประกอบคุณความดีแก่การกีฬาของชาติหรือนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศชาติ และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติว่าด้วยการจัดการเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ไปเป็นของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้
“จึงเห็นได้ว่า กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ย่อมต้องผูกพันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามภารกิจและหน้าที่ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่รับโอนมาด้วย ในกรณีข้อหารือนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยสองรายได้รับการปรับเหรียญรางวัลให้ได้รับเหรียญทองแดงจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สิทธิการได้รับเงินรางวัลและเงินสวัสดิการของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยทั้งสองรายดังกล่าว ย่อมเป็นกรณีที่เกิดจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ใน พ.ศ. 2551”
ดังนั้น ในการพิจารณาจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการแก่นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยทั้งสองรายดังกล่าวก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งในขณะนั้นการจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการแก่นักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องเงินรางวัลสำหรับองค์กรกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องบัญชีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือสวัสดิการ ลงวันที่ 17 กันยายน 2551
ดังนั้น ในกรณีที่หารือนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จึงสามารถอนุมัติจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการแก่นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยที่ได้รับการปรับอันดับย้อนหลังให้ได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ได้ และการจ่ายเงินรางวัลและเงินสวัสดิการย่อมเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องเงินรางวัลสำหรับองค์กรกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551และประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องบัญชีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือสวัสดิการ ลงวันที่ 17 กันยายน 2551 และหากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้
“เห็นว่า การทยอยจ่ายเงินสวัสดิการภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศดังกล่าว สำหรับเรื่องที่หารือนี้เป็นกรณีที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะและล่วงเลยระยะเวลาที่ควรดำเนินการมานานแล้ว จะใช้ดุลพินิจให้จ่ายเงินสวัสดิการไปในคราวเดียวกับเงินรางวัลของนักกีฬาก็ย่อมสามารถดำเนินการได้ด้วย”
มีรายงานว่า เงินรางวัลที่นักกีฬา 2 คนนี้จะได้รับรวมทั้งสิ้นคนละ 4 ล้านบาท