xs
xsm
sm
md
lg

“มัลลิกา” ยกหลักฐานปศุสัตว์มัด รบ.ปรับนำเข้าข้าวบาร์เลย์เอื้อประโยชน์บางคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน
รองโฆษก ปชป.แฉหลักฐานจากปศุสัตว์มัด รบ.เปลี่ยนแปลงนำเข้าข้าวบาร์เลย์ในโหมดอาหารสัตว์ เอื้อประโยชน์ให้บางคน แต่เกษตรกรรับชะตากรรม สมาคมการค้าพืชไร่ ซัดเจตนากดราคาข้าวโพด

วันนี้ (18 มิ.ย.) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน กล่าวว่า หลักฐานคำชี้แจงของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ โดยยืนยันว่าสำแดงการนำเข้ากับศุลกากร 2 ครั้งระบุว่าใช้สำหรับอาหารสัตว์อย่างชัดเจนทั้งเอกสารของปศุสัตว์ และศุลกากรยืนยัน นอกจากนี้ เจ้าพนักงานกรมปศุสัตว์ยังได้เข้าสุ่มเก็บตัวอย่างจากโรงงานอาหารสัตว์ คาดว่าจะเป็นของรายใหญ่ระดับประเทศที่ระบุว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

หลักฐานจากกรมปศุสัตว์และคำยืนยันจากเจ้าพนักงานผ่านสื่อฯ ชัดเจน แปลว่ารัฐบาลชุดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการนำเข้าข้าวบาร์เลย์เป็นบัญชีเพื่ออาหารสัตว์ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าในโหมดนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลได้เปิดให้มีการนำเข้าข้าวบาร์เลย์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เป็นการเปลี่ยนแปลงกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์อาหารสัตว์ใช่หรือไม่ นอกเหนือจากมีการปล่อยให้นำเข้าข้าวสาลี (พืชเพื่อวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศอีกชนิดกนึ่ง) โดยไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้าหรือตามมาตรการ 0% ด้วยแล้ว รัฐบาลชุดนี้ขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรชัดเจน

นางมัลลิกากล่าวว่า คุณค่าของข้าวบาร์เลย์ต่ำกว่าข้าวสาลีมากมีไขมันไม่เกิน 11% ไฟเบอร์ไม่น้อยกว่า 19% และไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลคณะกรรมการ นโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงพาณิชย์ เหมือนกับข้าวสาลี ที่ต้องกำกับด้วยมาตรการ 1:3 (คือนำเข้าหนึ่งส่วนต้องซื้อข้าวโพดสามส่วน) แม้ช่วงเวลา 2 เดือนนี้จะเปลี่ยนเป็นมาตรการ 1:2 ก็ตาม

“แต่การนำเข้าข้าวบาร์เลย์นั้นไม่ต้องใช้มาตรการใดเข้ามาเกี่ยวข้องจึงสามารถนำเข้ามาได้แบบปกติโดยไม่ต้องควบคุมปริมาณ ในอนาคตจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน และถ้าข้าวบาร์เลย์นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ตามหลักฐานของกรมปศุสัตว์ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายอย่าลืมว่าหากการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิตอาหารสัตว์แล้วสำแดงการส่งออกเนื้อสัตว์สามารถขอคืนภาษีตามมาตรา 19 ทวิ ได้ด้วย กล่าวโดยสรุปคือพฤติการณ์ของกระบวนการนี้ทั้งหมดในรัฐบาลนี้เพื่อใคร ใครได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ชะตากรรมตกอยู่ที่เกษตรกรที่ต้องดิ้นรน”

ทางด้านนายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวว่า สมาคมการค้าพืชไร่ มองการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ที่มีราคาสูงเกือบ 12 บาทต่อกิโลกรัมนั้นส่อเจตนาต้องการกดราคาข้าวโพดของเกษตรกรไทยให้ลดต่ำลง เพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขณะนี้มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 10-10.20 บาทเท่านั้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกติกาให้ข้าวบาร์เล่ย์เข้ามาในโหมดอาหารสัตว์ได้อีกชนิดจะมีผลกระทบต่อวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย เช่น รำข้าว ปลายข้าว และมันสำปะหลัง ถือว่าเป็นเจตนาทำลายกลไกการค้า เพราะผู้นำเข้าเป็นผู้ใช้รายใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น