xs
xsm
sm
md
lg

“มัลลิกา” จี้รัฐเดินหน้ากองทุนการศึกษาตามเจตนารมณ์ รธน. หลัง กม.ประกาศใช้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองโฆษก ปชป.จี้รัฐบาลเดินหน้ากองทุนการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ หลังกฎหมายประกาศใช้แล้ว

วันนี้ (28 พ.ค) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าความจริงแล้วรัฐบาลและกรรมาธิการด้านการปฏิรูปการศึกษาน่าจะแถลงความคืบหน้าต่อกรณีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ล่าสุด พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้แล้ว พ.ร.บ.นี้มีเป้าหมาย คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานำพาชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยจะใช้เงินกองทุนไปช่วยเหลือเด็กปฐมวัยให้ได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัด พัฒนาประสิทธิภาพครูในการจัดการเรียนการสอน และช่วยเหลือสถานศึกษา การช่วยเหลือมี 3 วิธี คือ ให้เปล่า ให้ยืม ให้กู้ยืม ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข

นางมัลลิกากล่าวว่า ในส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ปลดพันธนาการปัญหาเรื่องกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีงบประมาณมากที่สุดในการจัดสรรงบประมาณทุกปี แต่ปรากฏว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพทางการศึกษาและไม่เคยปฏิรูปได้

“กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เป็นยิ่งกว่ากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. แต่เป้าหมายก็คือเพื่อการพัฒนาทั้งนักเรียนและครู โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ซึ่งเป็นลูกหลานของประชาชนระดับรากหญ้ามากกว่า 4.3 คนในประเทศ ดิฉันคิดว่านี่ความหวังของเยาวชนที่ถูกกันออกนอกระบบการศึกษาเพราะฐานะและความจน”

นางมัลลิกากล่าวว่า ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องลงทุนเพื่ออนาคตประเทศ ด้วยการปฏิบัติตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 และมาตรา 258 ที่กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูโดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน (เบื้องต้นแนวทางของกรรมาธิการฯ ตอนแรกคือจะมีการหัก 5% ในงบประมาณกระทรวงศึกษาเพื่อสมทบกองทุนนี้แต่น่าจะผลักก้อนงบฯ ไม่ได้ตามเป้า) และเพื่อใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัตินี่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาซึ่งรัฐธรรมนูญบังคับไว้แล้วโดยกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพระราชบัญญัติก็ประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปคือจะปฏิบัติอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย อนาคตของเด็กและเยาวชนไทยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 4.3 ล้านคน อนาคตของประเทศไทยที่จะลดความเหลื่อมล้ำความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น อนาคตของเด็กและเยาวชนกำลังอยู่ในกำมือของผู้ใหญ่ทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น