แหล่งข่าว คสช. แจงเพิ่มบำเหน็จ ขรก. ช่วยงานแค่เล็กน้อย หน่วยละ 4 คน ยอมรับ 80% เป็นทหาร เพราะทำงานรอบด้าน ทำใจ ถูกมองยึดอำนาจ เพิ่มเงินเดือน อยากเห็นใจทหารชั้นผู้น้อย ยังคุมประเทศ ห่วง คลื่นใต้น้ำปะทุ
วันนี้ (11 มิ.ย.) แหล่งข่าว คสช. ชี้แจงกรณี สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สลธ.คสช.) เสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติหลักการโควตาบำเหน็จประจำปี (2 ขั้น) นอกเหนือโควตาปกติ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (1 ต.ค. 60 - 30 ก.ย. 61) ในอัตราร้อยละ 3 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ที่ปฏิบัติงานใน คสช. จำนวน 600 นาย ว่า ปกติแล้วข้าราชการทั่วประเทศ ทั้ง ทหาร ตำรวจ พลเรือน ทำงานในแต่ละปีจะพิจารณาให้ 2 ขั้น ตามเกณฑ์ได้โควตา 30% โดยพิจารณาทีละครึ่งปี แต่เมื่อนับรวมกันทั้งปีก็ได้ 2 ขั้น เช่น ส่วนราชการ “ก” มีจำนวน 100 คน ทำงานครบปี ได้ 2 ขั้น คิด 30% ได้ 30 คน ที่จะได้บำเหน็จตรงนี้ แต่ในช่วงที่มี คสช. เข้ามาจะมีข้าราชการจำนวนหนึ่งทำงาน 2 หน้าที่ คือ ทำงานในหน้าที่ปกติและมาช่วยงานของ คสช. ดังนั้น จึงได้พิจารณาเพิ่มให้ 3% ถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
“หากคิดเป็นหน่วยถือว่าไม่เยอะ หน่วยละ 3 -4 คนเท่านั้นที่ได้ แต่พอบอกเป็นจำนวนตัวเลข 600 คน จึงดูเยอะ ซึ่งก็มีทั้งทหารตำรวจ พลเรือน แต่ยอมรับว่า ส่วนใหญ่เป็นทหาร 80% ที่เหลือเป็นตำรวจ พลเรือน 20% ซึ่งบำเหน็จตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่เพิ่มเติมให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้คนที่ปฏิบัติงานใน คสช.” แหล่งข่าว คสช. ระบุ
แหล่งข่าวคนเดิมยังชี้แจงต่อว่า ส่วนใหญ่ที่เป็นทหาร 80% เนื่องจากว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ที่ทำหน้าที่มากมายทั่วประเทศ ทั้งดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซ่อมบ้าน ตั้งด่าน บรรเทาสาธารณภัย และส่วนใหญ่เป็นทหารอยู่ในต่างจังหวัด
“กกส.รส. ทั่วประเทศ ซึ่งก็คือ น้องๆ ทหารที่ปฏิบัติงาน เราก็ต้องให้เขาด้วย หน่วยหนึ่งสูงสุดมีประมาณ 150 คน คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้สูงสุดหน่วยละ 4 คนเท่านั้น ยอมรับว่า อาจจะถูกมองว่ายึดอำนาจแล้วมาเพิ่มเงินเดือนให้ทหารซึ่งทุกคนก็มีสิทธิ์คิดได้ แต่อยากให้มองว่า กกล.รส. เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่ เราก็ต้องดูแลเขาด้วยเพราะเขาทำงานตรากตรำ” แหล่งข่าว คสช. กล่าวและว่า
คสช. ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ เพื่อดูแลความเรียบร้อยภายในประเทศ อยากให้ดูในวันที่แกนนำ กปปส. ไปเยี่ยม อดีตพระพุทธะอิสระ ที่เรือนจำ ยังมีกลุ่ม นปช. ยังไปโห่ นั้น สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคลื่นใต้น้ำที่พร้อมที่จะปะทุขึ้นมาทุกเมื่อ ทั้งนี้ เราจะต้องใช้ กกล.รส.ในการควบคุมปฏิบัติงานดูแลทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไปอีก
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในพื้นที่ยังมีความขัดแย้งอยู่หากถึงวันประกาศเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไปหาเสียงที่เชียงใหม่ไม่ได้ พรรคเพื่อไทยไปหาเสียงที่ภาคใต้ไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร เราต้องมั่นใจว่าเลือกตั้งแล้วต้องไปได้ คสช. ไม่ได้ห่วงว่าใครจะเป็นนายกฯแต่ห่วงเรื่องหาเสียงกันไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร