สทป. แจง ปมลงนามกับบริษัทสหรัฐฯเจ้าของดาวเทียม “เทเออร์” อยู่ในขั้นวิจัย - ศึกษา ยันไม่ผูกมัดอยู่ที่รัฐบาลเลือก เผย ข้อดีไทยเป็นประเทศภาคีพันธมิตร ได้ข้อมูลก่อน ไม่ต้องควักทุนเอง ถูกกว่าเรือดำน้ำ
วันนี้ (6 มิ.ย.) พลอากาศเอก ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์อ้างถึง สทป. ผลักดันการจัดซื้อจัดหาดาวเทียม THEIA (เทเออร์) จำนวน 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ หรือ 91,200 ล้านบาท จากบริษัท THEIA Group ประเทศสหรัฐฯ ว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ขายดาวเทียมให้กับไทย แต่ สปท. มีการลงนามใน LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 เพื่อรับทราบว่า บริษัทดำเนินโครงการอย่างไร รวมถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับ เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการของ สทป. รับทราบ จากนั้นได้มีการลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 ในการด้านวิจัยและพัฒนาร่วม การศึกษาร่วมกันในการมีดาวเทียม รวมทั้งผลกระทบด้าน ความมั่นคงเศรษฐกิจ เช่น การค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน บนดิน แหล่งพลังงานจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการลงทุน งานด้านการขนส่ง งานด้านการประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู พร้อมทั้งดูความเป็นไปได้ในการจัดทำแผนแม่บทร่วมกัน ซึ่งการดำเนินการของ สทป. เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรทุกประการ
“ไม่มีสิ่งใดที่เป็นการผูกมัดว่าจะต้องเลือกบริษัทนี้ในการดำเนินการเรื่องดาวเทียม ทุกอย่างขึ้นอยู่การพิจารณาของผู้มีอำนาจ ซึ่งมีกระบวนการอยู่แล้ว ในปัจจุบัน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกิจการอวกาศแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลในภาพรวม และการที่ท่านเดินทางไปสหรัฐฯก่อนหน้านี้ในงานอื่น บริษัทดังกล่าวเชิญให้ไปฟัง ท่านก็แวะไปฟัง ยังไม่ได้มีการอนุมัติแต่อย่างใด และการที่ คุณศรีสุวรรณ มาพูดว่าจะทำดาวเทียมเพื่อการโจรกรรม ผมก็ไม่ทราบว่า เขาไปเอาข้อมูลจากไหน เพราะปกติในเรื่องความมั่นคงนั้น มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการดูแลอยู่ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ แต่การติดต่อสื่อสารโทรศัพท์คุยกัน ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ ต่างก็รู้ว่าใครคุยกับใคร ที่ไหน อยู่แล้วซึ่งมันไม่ใช่การเข้าไปโจรกรรม”
พลอากาศเอก ดร.ปรีชา กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาและรับฟังข้อมูลดาวเทียม พบว่า เทเออร์ ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง ส่งสัญญาณในลักษณะเรียลไทม์ ซึ่งหากเราเข้าเป็นประเทศภาคีพันธมิตร ก็จะมีส่วนได้รับข้อมูลโดยไม่ต้องมีการซื้อ และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศให้ความสนใจ แต่สหรัฐฯเขาก็จะเลือกแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีแต่อยากใช้ข้อมูลจากดาวเทียมก็ต้องเสียเงินซื้อ การไม่เข้าร่วมเราก็ต้องเสียเปรียบ อีกทั้งงบประมาณนี้ก็ไม่ได้มากมายขนาด 9 หมื่นล้าน ถูกกว่าเรือดำน้ำอีก
เขาระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่เกี่ยวกับดาวเทียม ธีออส 2 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปเมื่อปี 2558 เท่าที่ทราบมีการเอกชนยื่นความสนใจเข้ามา แต่ยังไม่ได้มีการเดินหน้าโครงการ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และไม่ขอออกความเห็น หรือเปรียบเทียบระหว่างดาวเทียมทั้งสองดวงนี้ เมื่อถามว่า ข้อมูลโจมตีที่ออกมาช่วงนี้เนื่องจากมีการแข่งขันของเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกันหลายบริษัทใช่หรือไม่ ผอ.สทป. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเลือกบริษัทไหน ลองไปหาข้อมูลเปรียบเทียบกันดูว่าตรงไหนคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่ง สทป. ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการตัดสินใจ ทำหน้าที่ด้านการวิจัยและพัฒนา และรายงานไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและตามมติสภากลาโหมเท่านั้น