“อนุพงษ์” ย้ำคำพูดนายกฯ ไม่ปรับ ครม. พร้อมมั่นใจทำงานใกล้ชิดชาวบ้านไม่แพ้นักการเมือง ขณะเดียวกันเชื่ออาจมีการเลือกตั้งท้องถิ่นปลายปี
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าคนที่จะตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจนคือนายกฯ คนเดียว ไม่มีใครตอบได้ เพราะอำนาจอยู่ที่นายกฯ ซึ่งนายกฯ ก็ได้ตอบชัดเจนไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.
เมื่อถามถึงกระแสที่จะให้พลเรือนมานั่งในตำแหน่ง รมว.มหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรื่องการทำงานใกล้ชิดประชาชน เราพยายามอยู่แล้ว เพราะ คสช.ไม่มี ส.ส. ก็ต้องใช้เครื่องมือที่มี หรือกลไกที่เรียกว่าประชารัฐเป็นตัวไปเชื่อมกับประชาชน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชน และตอนนี้ทุกกระทรวงก็ทำงานร่วมกัน เช่น โครงการไทยนิยมฯ มีทีมทำงานลงไปทุกกระทรวง ทุกท้องที่ ทำให้ใกล้ชิดประชาชนได้
เมื่อถามถึงกรณีมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนจะใกล้ชิดกับประชาชนได้มากกว่ารัฐมนตรีที่มาจากทหาร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า “ก็ต้องแตกต่างเป็นธรรมดา ผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และผมก็คิดว่าผมลงพื้นที่มาก ต้องทำงานทั้งสองทาง เพราะงานหลักอยู่ที่นโยบาย แต่ต้องไม่ทิ้งพื้นที่ ผมเองก็ลงพื้นที่ไม่น้อย ไปกับนายกฯ ก็ไป ดังนั้นจะวิพากษ์อย่างไรก็เชิญ แต่ผมอยู่กับประชาชนแน่นอน ผมไม่มีพรรค ไม่มีผลประโยชน์”
เมื่อถามว่า หากจะมีการปรับ ครม.ควรมีการเพิ่มสัดส่วนพลเรือนเข้ามาหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตนบอกแล้วว่า นั่นคืออำนาจของนายกฯ อยู่ที่นายกฯ เพราะนายกฯ เป็นคนที่ดูคนที่ทำงานได้ ตอบสนองเรื่องงานได้เป็นหลัก จะเป็นใครอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งนายกฯก็ไม่ได้มาเล่าให้ตนฟังว่าจะปรับใครหรือไม่อย่างไร เป็นสิทธิของนายกฯ และเราก็ควรเคารพสิทธินั้น ไม่ควรไปละลาบละล้วงถาม
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น และความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า สำหรับความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยในการเลือกตั้งท้องถิ่น เราได้ประสานงานกับสำนักงานกฤษฎีกาในการแก้ไขกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ทาง กกต.ได้มีข้อสังเกตในการขอแก้ไขมากกว่า 100 ประเด็น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเร่งร่างกฎหมาย ประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พยายามเร่งในส่วนนี้ เพื่อให้กฎหมายทั้ง 6 ฉบับ แก้ไขเรียบร้อยโดยเร็ว ทั้ง 6 ฉบับเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสิ้น ทั้งในส่วนของ กทม. พัทยา อบจ. เทศบาล โดยหากกฎหมายพร้อม ฝ่ายนโยบายก็จะได้หารือกัน เพราะต้องหารือร่วมกันระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ
เมื่อถามว่า สำหรับห้วงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น ควรจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้งระดับชาติ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า “คิดว่าหากกฎหมายเสร็จเร็ว มีช่องให้เลือกตั้งท้องถิ่น ก็น่าจะทำได้ เพราะไทม์ไลน์ของเลือกตั้งใหญ่นั้นมีแน่นอนอยู่แล้ว หากกฎหมายเสร็จเร็วแล้วมีช่องว่างก็สามารถดำเนินการได้เลย เพราะใน 45 วันก็พร้อมทำได้เลย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเป็นก่อนสิ้นปี เพราะโรดแมปกำหนดว่าการเลือกตั้งใหญ่จะต้องมีขึ้นในต้นปีหน้า แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ผมคาดว่านายกฯ น่าจะให้รายละเอียดได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย ส่วนที่มีการเกรงว่า หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งใหญ่ในระยะเวลาที่ใกล้กัน แล้วจะเกิดความวุ่นวาย นั่นก็เป็นแนวความคิด ดังนั้นจะต้องมีระยะที่พอดี แต่ก่อนอื่นต้องดูความพร้อมของกฎหมาย ถ้าเสร็จเร็วและมีช่วงว่างมาก แล้วห่างกันสักหน่อยหนึ่งก็น่าจะดี ไม่วุ่นวาย ประชาชนจะได้ไม่สับสน ทั้งนี้โดยส่วนตัวคิดว่ามีความพร้อม และหากเลือกได้บางส่วนอย่างที่ว่าไว้ ถ้าทำได้ก็ทำ”
เมื่อถามว่า หากเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งใหญ่ อาจถูกวิจารณ์ว่ามีความเกี่ยวโยงกับการเมือง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มองได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ทั้งสองแบบ บ้างก็ว่าเมื่อเลือกตั้งใหญ่แล้วจะเข้ามาคุมการเลือกตั้งท้องถิ่นก็พูดไปได้ ทั้ง 2 แนวคิดอยู่ที่ประชาชน
เมื่อถามถึงกรณีนักการเมืองท้องถิ่นที่ถูกคำสั่งมาตรา 44 แล้วกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ จะสามารถกลับมาลงรับเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า บางส่วนถูกตรวจสอบด้วยกฎหมายของกระทรวง แต่บางส่วนถูกตรวจสอบด้วยมาตรา 44 ดังนั้น หากทางปลัดกระทรวงตรวจสอบเสร็จแล้วก็จะรายงานไปที่ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)