xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่-สมคิด เยือน “อังกฤษ-ฝรั่งเศส” ปลายเดือนนี้ สาน ศก.สร้างสรรค์-พัฒนาอู่ตะเภา ดึงนักธุรกิจ 2 ประเทศ ร่วมอีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่ - สมคิด” เยือน “อังกฤษ - ฝรั่งเศส” ปลายเดือนนี้ ระหว่าง 20 - 25 มิ.ย. สานความร่วมมือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดันจังหวัดในฝัน เทียบเท่า “คาร์ดิฟฟ์โมเดล” พัฒนาย่านเสื่อมโทรมให้กลายเป็น creative hub พร้อมดึงนักธุรกิจ “UK - ฝรั่งเศส” ลงทุนในอีอีซี ส่วนการเยือนฝรั่งเศส เดินหน้า “ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา” แอร์บัส - การบินไทย เผยเตรียมนำคณะพบ 2 ผู้นำ “เทเรซา เมย์ - เอ็มมานูเอล มาครง”

วันนี้ (4 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีวาระงานเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และ ฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20 - 25 มิ.ย. นี้ โดยมีคณะรัฐมนตรี เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เดินทางไปด้วย พร้อมกับคณะนักธุรกิจไทย เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

โดยคณะจะได้พบกับ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ส่วนที่ฝรั่งเศสจะหารือกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อสานต่อสัญญาความร่วมมือที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามร่วมกับบริษัท แอร์บัส เพื่อประเมินโอกาสธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก ซึ่งลงนามตั้งแต่ ธ.ค. 2560

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานผลการเยือนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. รับทราบ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาคน สินค้า บริการ และพื้นที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนภาคเอกชน เดินทางเยือน เพื่อศึกษาแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากประเทศต้นแบบ และนำแนวคิดมาปรับใช้กับประเทศไทย

โดยการเยือนที่ผ่านมา ได้สานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่แบ่งได้หลายหมวด การส่งเสริมทำได้ทั้งเฉพาะทางและผสมผสาน เช่น การผสานดิจิทัล และศิลปะ โดยประเด็นภาครัฐควรมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก กำหนดนโยบาย สร้างเครือข่าย เชื่อมโยงพื้นที่สร้างสรรค์ของเอกชน และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดย outsource งาน และสนับสนนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น

คณะได้เยือนเมืองคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) ซึ่งถือเป็น creative city ต้นกำเนิดอุตสาหกรรมและองค์กรทางด้านความคิดสร้างสรรค์ชื่อดังระดับโลก มีการพัฒนาย่านเสื่อมโทรมให้กลายเป็น creative hub จำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากการที่ภาครัฐกำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน มีการให้การสนับสนุนด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่เริ่มจัดตั้งธุรกิจ อาทิ เจรจากับธนาคารพาณิชย่ให้ผ่อนผันดอกเบี้ยเงินกู้บางประเภท จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ SMEs จัดหาเงินทุนสนับสนุนแบบให้เปล่า สร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรด้านธุรกิจสร้างสรรค์ วางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

“พบว่า จากปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การสร้างเวทีสาธารณะให้บุคคลจากต่างสาขาได้พบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แบ่งปันทักษะและประสบการณ์ แต่ทั้งนี้ การจะส่งเสริมหรือสร้างพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ใดๆ จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถึงความต้องการของชุมชนผู้ใช้อย่างถ่องแท้ก่อน ในทำนองเดียวกัน การกำหนดนโยบายของภาครัฐ ก็จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยข้อมูล บริบท ผลกระทบ และทดสอบสมมติฐานก่อน”

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะต้องได้รับการปลูกฝังแนวคิด การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ เพื่อให้เข้าใจถึงการทำธุรกิจตามกลไกตลาด สะท้อนต้นทุน กำไร ที่แท้จริง รู้จักคิด วิเคราะห์ วางแผน เพื่อขยายธุรกิจ และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ

แหล่งข่าวระบุว่า ในขั้นตอนต่อไป คณะมีแนวทาคิดที่จะร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “London Craft Week” และสยามพิวรรธน์ จัดงาน “Beyond Luxury Bangkok” ณ Icon Siam ในวันที่ 23 พฤศจิกายน นี้ และดำเนินความร่วมมืออื่นๆ ที่ต่อเนื่อง จะร่วมกับ British Council และศูนย์บ่มเพาะ Cockpit Arts London จัดกิจกรรมกระตุ้นความคิดและเวทีสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และชุมชนหัตถศิลป์ของไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในส่วนภูมิภาค

“มีแผนร่วมมือกับองค์กรด้านการวิจัยนวัตกรรมทางนโยบาย Nesta ในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและยกระดับกระบวนการจัดทำนโยบาย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสร้างสรรค์สาขาต่างๆ มาเผยแพร่องค์ความรู้ ให้แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักคิด และนักสร้างสรรค์ชาวไทย”

ส่วนการร่วมมือกับ 2 ประเทศ มีแผนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย และสหราชอาณาจักรในการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์ตามที่บริษัท Tramshed Tech แสดงความสนใจ และร่วมกับหน่วยงานด้านการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกของสหราชอาณาจักร UK Export Finance จัดสัมมนาเชิญชวนนักธุรกิจจากสหราชอาณาจักรมาลงทุนใน EEC และคัดเลือกจังหวัดที่จะพัฒนาให้เป็นต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยถอดแบบความสำเร็จจากเมืองคาร์ดิฟฟ์”

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อออกมาตรการ สนับสนุนผู้ประกอบการและพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว

แหล่งข่าวระบด้วยว่า การเดินทางไปเยือนครั้งนี้ เนื่องจากสหราขอาณาจักร ถือเป็นต้นกำเนิดแนวคิดดังกล่าว มีการบริหารจัดการที่ขัดเจน ก้าวหน้า เป็นระบบ สามารถสร้างรายได้และก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศจำนวนมาก โดยประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตเป็นศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคและในระดับนานาขาติ ผลการเยือนครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการนำแนวคิดมาปรับใช้กับประเทศไทย และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อดำเนินกิจกรรมขยายผลการเยือนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

คณะดังกล่าวเดินทางไปเยือนหน่วยงานภาครัฐ 10 สถานที่ เช่น ด้านการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การกำหนดนโยบาย การให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ สร้างเวทีสาธารณะเพื่อกระตุ้นและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เอกชนเฉพาะทาง อาทิ ด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล ศิลปะ ภาพยนตร์ และการแสดง

มีรายงานว่า สำหรับการเยือนฝรั่งเศส เป็นการต่อยอดโครงการพัฒนาเมืองภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการบริหารสนามบินหลายรายให้ความสนใจ โดยเฉพาะผู้บริหารสนามบิน ปารีส ชาร์ล เดอโกล และ วินชี แอร์พอร์ต ให้ความสนใจ

โดยการเดินทางในครั้งนี้ การบินไทย และ แอร์บัส จะลงนามร่วมทุนในหลักการ (JV Prin ciple) เพื่อพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา ร่วมกัน ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยจะมี “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน


กำลังโหลดความคิดเห็น