“จรุงวิทย์” ยันเตรียมพร้อมจัดเลือกตั้ง แต่ยังห่วงพรรคการเมืองปรับตัวไม่ทัน แนะต้องหาสมาชิกให้พอทำไพรมารีโหวต เชื่อเปลี่ยนตัว กกต.ไร้ปัญหา
วันนี้ (25 พ.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการจัดเลือกตั้ง ว่าขณะนี้สำนักงาน กกต.มีการเตรียมการใน 4 เรื่อง คือ 1. การออกระเบียบและประกาศเพื่อรองรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยระเบียบและประกาศที่ กกต.จะต้องจัดทำมีทั้งหมดกว่า 52 ฉบับ ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วบางส่วน และยังอยู่ในการดำเนินการประมาณ 40 ฉบับ ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว และในส่วนกฎหมายอีก 2 ฉบับแม้จะยังไม่ประกาศใช้ แต่ก็ได้ร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป 2. การเตรียมพร้อมบุคลากร โดยการจัดอบรมและนิเทศงาน โดยเฉพาะกระบวนการจัดการเลือกตั้งตามแนวกฎหมายใหม่ รวมทั้งอบรมเตรียมพนักงานเพื่อทำการไต่สวนคดี เพื่อเตรียมพร้อมเกี่ยวกับเรื่องการไต่สวนคดีทุจริตเลือกตั้ง โดยตั้งกรอบเวลาการดำเนินการไม่เกิน 6 เดือนต่อสำนวน ภายหลังการเลือกตั้งหรือถูกร้องเรียน 3. การเสริมสร้างวัฒนธรรมพลเมือง โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และระบบการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ การเสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมือง รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนที่จะช่วยกันต่อต้านการทุจริตเลือกตั้ง และ 4. การสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง เนื่องจากในกฎหมายใหม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นการปฏิรูปค่อนข้างแรงสำหรับพรรคการเมือง
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวอีกว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการปรับตัวของพรรคการเมืองในการทำไพรมารี่โหวต เพราะอำนาจพลิกกลับไปอยู่ที่สมาชิกพรรค พรรคการเมืองจึงต้องปรับตัวให้ทัน ในช่วงเวลาก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งตามโรดแมปในเดือน ก.พ. 2562 และที่ยังกังวลคือระยะเวลาการทำไพรมารีโหวต ที่มีกรอบเวลา 150 วันหลัง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้จะทำได้ทันหรือไม่ แต่หาก กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้เร็วพรรคก็มีเวลาเตรียมตัวทำเรื่องนี้ และอีกเรื่องที่ยังน่ากังวลก็คือสมาชิกพรรค ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องมีเวลาไปหาสมาชิกให้มากกว่านี้เพื่อที่จะสามารถทำไพรมารีโหวตได้ แต่การหาสมาชิกพรรคก็ต้องดูด้วย ไม่ใช่ไปทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นอีก เพราะอาจจะไปขัดกฎหมายได้ แต่หากจะให้งดใช้ระบบไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกเลย ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะกฎหมายดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจน
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงการสรรกา กกต.ใหม่ว่า โดยกฎหมายแล้วกำหนดให้ กกต.ชุดปัจจุบันอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่า กกต.ชุดใหม่จะมารับช่วงต่อ ซึ่งการส่งต่องานคงไม่น่าจะมีปัญหา เพียงแต่ว่าการปรับตัวของ กกต.ชุดใหม่ต้องเรียนรู้ให้ไวหากเกิดการเลือกตั้งขึ้นมา แต่ดูแล้วแต่ละท่านก็มีประสบการณ์ และเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาพอสมควร